วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

มิลินทปัญหา ตอนที่ 4

- ตอนที่ ๔ -

สำหรับในตอนนี้จะเป็นตอนเริ่มเข้าเรื่องการถามปัญหากัน ก่อนที่จะเริ่มปัญหาแรกขอนำ " พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้ามิลินท์ " (เรียบเรียงโดย วศิน อินทสระ) มาให้ทราบไว้ดังนี้
  •  พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย 

พระพุทธศาสนาเจริญเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สมัยพระเจ้ามิลินท์ หรือ พระเจ้าเมนันเดอร์ ซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก ที่มาปกครองอินเดียอยู่ระยะหนึ่ง ขอเล่าความย้อนต้นไปสักเล็กน้อยว่า 
          เมื่อ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ยกทัพเข้ารุกรานอินเดีย และเลิกทัพกลับไปนั้นแคว้นที่ทรงตีได้แล้ว ก็โปรดให้แม่ทัพนายกองของพระองค์ปกครองดูแล ทิ้งกองทหารกรีกไว้บางส่วน ฝรั่งชาติกรีกเหล่านี้ได้ตั้งเป็นอาณาจักรอิสระขึ้น
          เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตแล้ว อาณาจักรที่มีกำลังมาก คือ อาณาจักซีเรีย และ อาณาจักรบากเตรีย (ปัจจุบันคือ เตอรกี และ อัฟกานิสถาน) 


          ครั้งถึง พ.ศ. ๓๙๒ พระเจ้าเมนันเดอร์หรือที่เรียกในคัมภีร์บาลีว่า พระเจ้ามิลินท์ ยกกองทัพตีเมืองต่างๆ แผ่พระราชอำนาจลงมาถึงตอนเหนือ
          พระองค์เดิมทีมิได้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทรงขัดขวางการขยายตัวของพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป เนื่องจากทรงแตกฉานวิชาไตรเพท (ของพราหมณ์) และศาสนาปรัชญาต่าง ๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย พระองค์จึงประกาศโต้วาทีกับนักบวชในลัทธิศาสนาต่าง ๆ ในเรื่องศาสนาและปรัชญาปรากฏว่าไม่มีใครสู้พระองค์ได้ 
  • พระเจ้ามิลินท์แห่งวงศ์โยนก

          ในเวลานั้น ชาวเมืองเรียกว่า " ชาวโยนก " แต่ชาวอินเดียเรียก "ยะวะนะ" หมายถึงพวกไอโอเนีย ( แคว้นไอโอเนียอยู่ทางตะวันตกของเอเชียไมเนอร์) เมืองสาคลนคร ตั้งอยู่ในแคว้นคันธาระ ( ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย) ดังนี้


  • มิลินทปัญหา วรรคที่ ๑  
  • ปัญหาที่ ๑ ถามชื่อ 

          ครั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์ได้เสร็จไปหาพระนาคเสนแล้ว ทรงปราศรัยพอให้เกิดความร่าเริงยินดีแล้วก็ประทับนั่ง ฝ่ายพระนาคเสนก็แสดงความชื่นชมยินดี ทำให้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ามิลินท์
          ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสถามปัญหาข้อแรกต่อพระนาคเสนขึ้นว่า
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมประสงค์จะสนทนาด้วย "
          พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า
          " เชิญสนทนาเถิด มหาบพิตร อาตมภาพใคร่จะฟัง "
          " โยมสนทนาแล้ว ขอผู้เป็นเจ้าจงฟังเถิด "
          " อาตมภาพฟังอยู่แล้ว มหาบพิตรเชิญเจรจาเถิด "
          " พระผู้เป็นเจ้าได้ฟังว่าอย่างไร ? "
          " ก็มหาบพิตรเจรจาว่าอย่างไร ? "
          " โยมจะถามพระผู้เป็นเจ้า "
          " จงถามเถิด มหาบพิตร "
          " โยมถามแล้ว "
          " อาตมภาพก็แก้แล้ว "
          " พระผู้เป็นเจ้าแก้ว่าอย่างไร ? "
          " ก็มหาบพิตรถามว่าอย่างไร ? "


     เมื่อพระเถระตอบอย่างนี้แล้ว พวกโยนกเสนาทั้ง ๕๐๐ ก็เปล่งเสียงสาธุการถวายพระนาคเสน แล้วกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า
          " ข้าแต่มหาราชเจ้า คราวนี้ของพระองค์จงตรัสถามปัญหาต่อไปเถิด พระเจ้าข้า "
เริ่มมีปัญหาเพราะชื่อ 

     ในกาลครั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสถามปัญหาต่อพระนาคเสนยิ่งขึ้นไปว่า
          " ข้าแต่พระเจ้าเป็นเจ้า ธรรมดาผู้จะสนทนากัน เมื่อไม่รู้จักนามและโคตรของกันและกันเสียก่อน เรื่องสนทนาก็จะไม่มีขึ้นเรื่องที่พูดกันก็จักไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นโยมจึงขอถามพระผู้เป็นเจ้าว่า พระผู้เป็นเจ้าชื่ออะไร? "
          พระนาคเสนตอบว่า
          " ขอถวายพระพร เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายเรียกอาตมภาพว่า นาคเสน ส่วนมารดาบิดาเรียกอาตมภาพว่า นาคเสนก็มีวีรเสนก็มี สุรเสนก็มี สีหเสนก็มี ก็แต่ว่าชื่อที่เพื่อนพรหมจารีเรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " นี้ เพียงเป็นแต่ชื่อบัญญัติขึ้น เพื่อให้เข้าใจกันได้เท่านั้น ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนผู้ใดจะอยู่ในชื่อนั้น "
          ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
          " ขอให้ชาวโยนกทั้ง ๕๐๐ นี้และพระภิกษุสงฆ์ ๘ หมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้าเถิด พระนาคเสนนี้กล่าวว่า เพื่อนพรหมจรรย์เรียกอาตมาภาพว่า " นาคเสน " ก็แต่ว่าไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอันใดอยู่ในคำว่า " นาคเสน " นั้น ดังนี้ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอยู่แล้ว บุคคลเหล่าใดถวายบาตร จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และวัตถุที่เก็บเภสัชไปแล้ว บุญกุศลก็ต้องไม่มีแก่บุคคลเหล่านั้นน่ะซิ ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่า จะฆ่าพระผู้เป็นเจ้า โทษปาณาติบาตก็เป็นอันไม่มีน่ะซิ ถ้าบุคคลตัวตนเราเขาไม่มีอยู่แล้ว ก็ใครเล่าจะถวายจีวร อาหาร ที่อยู่ ยา และที่ใส่ยา แก่พระผู้เป็นเจ้า ใครเล่าจะบริโภคสิ่งเหล่านั้น ใครเล่ารักษาศีล ใครเล่ารู้ไปในพระไตรปิฏก ใครเล่าเจริญภาวนา ใครเล่ากระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล นิพพาน ใครเล่ากระทำปาณาติบาต ใครเล่ากระทำอทินนาทาน ใครเล่าประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร ใครเล่ากล่าวมุสาวาท ใครเล่าดื่มสุราเมรัย ใครเล่ากระทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ เพราะฉะนั้น ถ้าสัตว์บุคคลตัวตนไม่มีแล้ว กุศลก็ต้องไม่มี อกุศลก็ต้องไม่มีผู้ทำหรือผู้ให้ทำซึ่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มีผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดฆ่าพระผู้เป็นเจ้าโทษปาณาติบาตก็ไม่มีแก่ผู้นั้น เมื่อถืออย่างนั้นก็เป็นอันว่าอาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มีอุปัชฌาย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี อุปสมบทของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี คำใดที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า พวกเพื่อนพรหมจรรย์เรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " อะไรเป็นนาคเสนในคำนั้น เมื่อโยมถามพระผู้เป็นเจ้าอยู่อย่างนี้ พระผู้เป็นได้ยินเสียงถามอยู่หรือไม่ ? "
ถามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย 
           พระนาคเสนตอบว่า
          " ขอถวายพระพร อาตมภาพได้ยินเสียงถามอยู่ "
          " ถ้าพระผู้เป็นเจ้าได้ยินเสียงถามอยู่ คำว่า " นาคเสน " ก็มีอยู่ในชื่อนั้นน่ะซิ "
          " ไม่มี มหาบพิตร "
          " ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้นโยมขอถามต่อไปว่า ผมของพระผู้เป็นเจ้าหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
          " ขนหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ "
          " เล็บหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ฟันหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ "
          " หนังหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ "
          " เนื้อหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ "
          " เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร สมองศีรษะ เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
          " ถ้าอย่างนั้น รูป หรือเวทนา หรือสัญญาสังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
          " ถ้าอย่างนั้น จักขุธาตุและรูปธาตุโสตธาตุและสัททธาตุ ฆานธาตุและคันธธาตุชิวหาธาตุและรสธาตุ กายธาตุและโผฏฐัพพธาตุ มโนธาตุ เหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
          " ถ้าอย่างนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
          " ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่นอกจาก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือ…เป็นนาคเสน ? "
          " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อโยมถามพระผู้เป็นเจ้าอยู่ ก็ไม่ได้ความว่าอะไรเป็นนาคเสนเป็นอันว่า พระผู้เป็นเจ้าพูดเหละแหละพูดมุสาวาท  "


พระนาคเสน กล่าวแก้ด้วยราชรถ 
           เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้แล้ว พระนาคเสนองค์อรหันต์ ผู้สำเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ผู้ได้อบรมเมตตามาแล้ว จึงนิ่งพิจารณาซึ่งวาระจิตของพระเจ้ามิลินท์อยู่สักครู่หนึ่งแล้วจึงกล่าวขึ้นว่า
          " มหาบพิตรเป็นผู้มีความสุขมาแต่กำเนิด มหาบพิตรได้เสด็จออกจากพระนครในเวลาร้อนเที่ยงวันอย่างนี้ มาหาอาตมภาพได้เสด็จมาด้วยพระบาท ก้อนกรวดเห็นจะถูกพระบาทให้ทรงเจ็บปวด พระกายของพระองค์เห็นจะทรงลำบากพระหฤทัยของพระองค์เห็นจะเร่าร้อน ความรู้สึกทางพระวรกายของพระองค์ เห็นจะประกอบกับทุกข์เป็นแน่ เพราะเหตุไรอาตมภาพจึงว่าอย่างนี้ เพราะเหตุว่า มหาบพิตรมีพระหฤทัยดุร้าย ได้ตรัสพระวาจาดุร้าย มหาบพิตรคงได้เสวยทุกขเวทนาแรงกล้า อาตมาจึงขอถามว่า มหาบพิตรเสด็จมาด้วยพระบาท หรือด้วยราชพาหนะอย่างไร ? "           พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสตอบว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้มาด้วยเท้า โยมมาด้วยรถต่างหาก "
          พระนาคเสนเถระจึงกล่าวประกาศขึ้นว่า
          " ขอพวกโยนกทั้ง ๕๐๐ กับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า คือพระเจ้ามิลินท์นี้ได้ตรัสบอกว่า เสด็จมาด้วยรถ ข้าพเจ้าจะขอถามพระเจ้ามิลินท์ต่อไป " กล่าวดังนี้แล้ว จึงถามว่า
          " มหาบพิตรตรัสว่า เสด็จมาด้วยรถจริงหรือ ? " พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า
          " เออ…ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมว่ามาด้วยรถจริง " พระเถระจึงซักถามต่อไปว่า
          " ถ้ามหาบพิตรเสด็จมาด้วยรถจริงแล้วขอจงตรัสบอกอาตมภาพเถิดว่า งอนรถหรือ…เป็นรถ ? "
          " ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า "
          " ถ้าอย่างนั้น เพลารถหรือ…เป็นรถ ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในเพลาหรือ ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ถ้าอย่างนั้น ล้อรถหรือ…เป็นรถ ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในล้อรถหรือ ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ถ้าอย่างนั้น ไม้ค้ำรถหรือ…เป็นรถ ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ถ้าอย่างนั้น กงรถหรือ…เป็นรถ ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ถ้าอย่างนั้น เชือกหรือ…เป็นรถ ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในเชือกหรือ ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ถ้าอย่างนั้น คันปฏักหรือ…เป็นรถ ? "
          " ไม่ใช่ "
          "ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในคันปฏักหรือ ? "
          " ไม่ใช่ "
          "ถ้าอย่างนั้น แอกรถหรือ…เป็นรถ ? "
          " ไม่ใช่ "
          "ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในแอกหรือ ? "
          " ไม่ใช่ "
          " ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่เล็งเห็นว่า สิ่งใดเป็นรถเลย เป็นอันว่ารถไม่มี เป็นอันว่ามหาบพิตรตรัสเหลาะแหละเหลวไหล มหาบพิตรเป็นพระราชาผู้เลิศในชมพูทวีปนี้ เหตุไรมหาบพิตรจึงตรัสเหลาะแหละเหลวไหลอย่างนี้ ? "





     เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกโยนกข้าราชบริพารทั้ง ๕๐๐ นั้น ก็พากันเปล่งเสียงสาธุการขึ้นแก่พระนาคเสนเถระแล้วกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ขึ้นว่า 
          " ขอมหาราชเจ้าจงทรงแก้ไขไปเถิดพระเจ้าข้า "
          พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้พูดเหลาะแหละเหลวไหล การที่เรียกว่ารถนี้เพราะอาศัยเครื่องประกอบรถทั้งปวง คือ งอนรถ เพลารถ ล้อรถ ไม้ค้ำรถ กงรถ เชือกขับรถ เหล็กปฏัก ตลอดถึงแอกรถ มีอยู่พร้อม จึงเรียกว่ารถได้ "
          พระเถระจึงกล่าวว่า
          " ถูกแล้ว มหาบพิตร ข้อที่อาตมภาพได้ชื่อว่า " นาคเสน " ก็เพราะอาศัยเครื่องประกอบด้วยอวัยวะทุกอย่าง คือ อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น อันจำแนกแจกออกไปเป็นขันธ์ ธาตุอายตนะทั้งปวง ข้อนี้ถูกตามถ้อยคำของ นางปฏาจาราภิกษุณี ผู้เป็นพระอรหันต์ กล่าวขึ้นในที่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
          " อันที่เรียกว่ารถ เพราะประกอบด้วยเครื่องรถทั้งปวงฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ก็สมมุติเรียกกันว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาฉันนั้น " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
          พระเจ้ามิลินท์ทรงฟังแก้ปัญหาจบลง น้ำพระทัยของพระบาทท้าวเธอปรีดาปราโมทย์ออกพระโอษฐ์ตรัสซ้องสาธุการว่า
          " สาธุ..พระผู้เป็นเจ้าช่างแก้ปัญหาได้อย่างน่าอัศจรรย์ กล่าวปัญหาเปรียบเทียบอุปมาด้วยปฏิภาณอันวิจิตรยิ่ง ให้คนทั้งหลายคิดเห็นกระจ่างแจ้งถูกต้องดีแท้ ถ้าพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็จะต้องทรงสาธุการเป็นแน่ "



  •  ปัญหาที่ ๒ ถามพรรษา 

     ครั้งนั้นพระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามอรรถปัญหาสืบไปว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ามีพรรษาเท่าไร ? " พระนาคเสนตอบว่า
          " อาตมภาพมีพรรษาได้ ๗ พรรษาแล้ว "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คำว่า " ๗ พรรษา " นั้น นับตัวพระผู้เป็นเจ้าด้วยหรือ…หรือว่านับแต่ปีเท่านั้น?"

อุปมาเงาในแก้วน้ำ 



     ก็ในคราวนั้น เงาของพระเจ้ามิลินท์ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวงนั้น ได้ปรากฏลงไปที่พระเต้าแก้ว อันเต็มไปด้วยน้ำ พระนาคเสนได้เห็นแล้ว จึงถามขึ้นว่า
          " มหาบพิตรเป็นพระราชา หรือว่าเงาที่ปรากฏอยู่ในพระเต้าแก้วนี้เป็นพระราชา ? "
          " ข้าแต่พระนาคเสน เงาไม่ใช่พระราชาโยมต่างหากเป็นพระราชา แต่เงาก็มีอยู่เพราะอาศัยโยม "
          " เงาที่มีขึ้นเพราะอาศัยพระองค์ฉันใดการนับพรรษาว่า ๗ เพราะอาศัยอาตมาก็มีขึ้นฉันนั้น ขอถวายพระพร "
          " น่าอัศจรรย์ พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ปัญหาปฏิภาณอันวิจิตรยิ่งถูกต้องดีแล้ว " 


  • ปัญหาที่ ๓ ถามลองปัญญา 

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามขึ้นอีกว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน บรรพชามีประโยชน์ อย่างไร อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดในการบรรพชาของพระผู้เป็นเจ้า ? "
          พระเถระตอบว่า " บรรพชาของอาตมภาพนั้น เป็นประโยชน์เพื่อการดับทุกข์ให้สิ้นไป แล้วมิให้ทุกข์อื่นบังเกิดขึ้นได้ อีกประการหนึ่ง บรรพชาย่อมให้สำเร็จประโยชน์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย "


สนทนาอย่างบัณฑิตหรืออย่างโจร 
          พระเจ้ากรุงสาคลนครได้ทรงฟังพระนาคเสนเฉลยปัญหาได้กระจ่างแจ้ง ก็มิได้มีทางที่จะซักไซร้ จึงหันเหถามปัญหาอื่นอีกว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าจะสนทนากับโยมต่อไปได้หรือไม่ "
          พระนาคเสนตอบว่า
          " ถ้ามหาบพิตรจะสนทนาตามเยี่ยงอย่างบัณฑิต อาตมภาพก็จะสนทนากับมหาบพิตรได้ ถ้ามหาบพิตรจะสนทนาตามเยี่ยงอย่างของพระราชา อาตมาก็จะสนทนาด้วยไม่ได้ "
          " บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างไร ? "
          " อ๋อ…ธรรมดาว่าบัณฑิตที่สนทนากันย่อมเจรจาข่มขี่กันได้ แก้ตัวได้ รับได้ ปฏิเสธได้ ผูกได้ แก้ได้ บัณฑิตทั้งหลายไม่โกรธ บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละมหาบพิตร "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระราชาทั้งหลายสนทนากันอย่างไร ? "
          " ขอถวายพระพร พระราชาทั้งหลายทรงรับสั่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปแล้ว ผู้ใดไม่ทำตาม ก็ทรงรับสั่งให้ลงโทษผู้นั้นทันที พระราชาทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละ มหาบพิตร "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมจะสนทนาตามเยี่ยงอย่างบัณฑิต จักไม่สนทนาตามเยี่ยงอย่างของพระราชา ขอพระเป็นเจ้า จงเบาใจเถิด พระผู้เป็นเจ้าสนทนากับภิกษณี หรือสามเณร อุบาสก คนรักษาอารามฉันใด ของจงสนทนากับโยมฉันนั้น อย่ากลัวเลย "
          " ดีแล้ว มหาบพิตร "
          พระเถระแสดงความยินดีอย่างนี้แล้วพระราชาจึงตรัสต่อไปว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน โยมจักถามพระผู้เป็นเจ้า "
          " เชิญถามเถิด มหาบพิตร "
          " โยมถามแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "
          " อาตมภาพแก้แล้ว มหาบพิตร "
          " พระผู้เป็นเจ้าแก้ว่าอย่างไร ? "
          " ก็มหบพิตรตรัสถามว่าอย่างไร ? "
     ( พระเจ้ามิลินท์ไต่ถามปัญหาเช่นนี้ หวังจะลองปัญญาพระนาคเสนว่า จะเขลาหรือฉลาด ยั่งยืนอยู่ไม่ครั่นคร้ามหรือประการใดเท่านั้น ) 
     ในวันแรกนี้ พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามปัญหา ๓ ข้อ คือ ถามชื่อ ๑ ถามพรรษา ๑ ถามเพื่อทดลองสติปัญญาของพระเถระ ๑

นิมนต์พระนาคเสนไปในวัง 
     ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงดำริว่าพระภิกษุองค์นี้เป็นบัณฑิต สามารถสนทนากับเราได้ สิ่งที่เราควรถามมีอยู่มาก สิ่งที่เรายังไม่ได้ถามก็มีอยู่เป็นอันมาก แต่เวลานี้ดวงสุริยะกำลังจะสิ้นแสงแล้ว พรุ่งนี้เถิดเราจึงจะสนทนากันในวัง 
     ครั้งทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งเทวมันติยอำมาตย์ว่า
          " นี่แน่ะ เทวมันติยะ จะอาราธนาพระผู้เป็นเจ้าว่า พรุ่งนี้จักมีการสนทนากันในวัง " 
     ตรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับขึ้นทรงม้าพระที่นั่ง แล้วทรงพึมพำไปว่า " นาคเสน… นาคเสน…" ดังนี้
     ฝ่ายเทวมันติยอำมาตย์ก็อาราธนาพระนาคเสนว่า
          " ข้าแต้พระผู้เป็นเจ้า พระราชาตรัสสั่งว่า พรุ่งนี้จักมีการสนทนาในพระราชาวัง "
          พระเถระก็แสดงความยินดีตอบว่า
          " ดีแล้ว " 
     พอล่วงราตรีวันนั้น เนมิตติยอำมาตย์ อันตกายอำมาตย์ มังกุรอำมาตย์ สัพพทินนอำมาตย์ ก็พร้อมกันเข้าทูลถามพระเจ้ามิลินท์ว่า
          " ข้าแต่มหาราชเจ้า จะโปรดให้พระนาคเสนเข้ามาได้หรือยัง พระเจ้าข้า ? "
          พระราชาตรัสตอบว่า
          " ให้เข้ามาได้แล้ว "
          " จะโปรดให้เข้ามากับพระภิกษุสักเท่าไรพระเจ้าข้า ? "
          " ต้องการมากับภิกษุเท่าใด ก็จงมากับภิกษุเท่านั้น "
          สัพพทินนอำมาตย์ได้กราบทูลขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ว่า
          " ข้าแต่มหาราชเจ้า จะโปรดให้พระนาคเสนมากับพระภิกษุสัก ๑๐ รูป จะได้หรือไม่ ? "
          พระองค์ตรัสตอบว่า
          " พระนาคเสนต้องการจะมากับพระภิกษุเท่าใด ก็จงมากับพระภิกษุเท่านั้นเถิด "
          จึงทูลถามขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๓ ว่า
          " จะโปรดให้พระนาคเสนมากับพระภิกษุสัก ๑๐ รูป ได้หรือไม่ ? "
          พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า
          " เราพูดอย่างไม่ให้สงสัยแล้วว่า พระนาคเสนต้องการจะมากับพระภิกษุเท่าใดจงมากับพระภิกษุเท่านั้น เราได้สั่งเป็นคำขาดลงไปแล้ว เราไม่มีอาหารพอจะถวายพระภิกษุทั้งหลายหรือ ? "

     เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว สัพพทินนอำมาตย์ก็เก้อ ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้ง ๔ จึงพากันออกไปหาพระนาคเสน กราบเรียนให้ทราบว่า
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้ามิลินท์ตรัสสั่งว่า พระผู้เป็นเจ้าต้องการจะเข้าไปในพระราชวังกับพระภิกษุเท่าใด ก็ขอให้เข้าไปได้เท่านั้นไม่มีกำหนด "



  • ปัญหาที่ ๔ ปัญหาของอันตกายอำมาตย์ 

     เช้าวันหนึ่ง พระนาคเสนก็นุ่งสบงทรงจีวรมือสะพายบาตร แล้วเข้าไปสู่สาครนครกับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ เวลาเดินมาตามทางนั้น อันตกายอำมาตย์ถามขึ้นว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน ท่านได้บอกไว้ว่าเราชื่อ " นาคเสน " ดังนี้ แต่กล่าวว่าไม่มีสิ่งใดเป็นนาคเสน ข้อนี้ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่ ? "
          พระเถระจึงถามว่า
          " เธอเข้าใจว่า มีอะไรเป็นนาคเสน อยู่ในคำว่า " นาคเสน " อย่างนั้นหรือ ? "
          " ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ลมหายใจอันเข้าไปและออกมา นี้แหละ..เป็นนาคเสน "
          " ถ้าลมนั้นออกไปแล้วไม่กลับเข้ามา ผู้นั้นจะเป็นอยู่ได้หรือ ? "
          " เป็นอยู่ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า " อุปมาพวกเป่าสังข์
          " ถ้าอย่างนั้นเราขอถามว่า ธรรมดาพวกเป่าสังข์ ย่อมพากันเป่าสังข์ ลมของพวกเขากลับเข้าไปอีกหรือไม่ ? "
          " ไม่กลับ พระผู้เป็นเจ้า "
          " ก็ถ้าอย่างนั้น เพราะเหตุไรพวกนั้นจึงไม่ตาย พวกช่างทองก็พากันเป่ากล้องประสานทอง ลมของเขากลับเข้าไปอีกหรือไม่ ? "
          " ไม่กลับเข้าไปอีก พระผู้เป็นเจ้า "
          " พวกเป่าปี่ก็พากันเป่าปี่ ลมของพวกเขากลับเข้าไปอีกหรือไม่ ? "
          " ไม่กลับ พระผู้เป็นเจ้า "
          " ถ้าอย่างนั้น เหตุไรพวกนั้นจึงไม่ตาย ? "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าไม่อาจสนทนากับท่านได้แล้ว ขอท่านจงไขข้อความนั้ให้ข้าพเจ้าเข้าใจด้วยเถิด "
          พระเถระจึงแก้ไขว่า
          " อันลมหายใจออกหายใจเข้านั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีชีวิต (คือคนและสัตว์) แต่เป็น กายสังขาร (คือเป็นเครื่อช่วยให้ชีวิตทรงอยู่) ต่างหาก "


          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กายสังขารตั้งอยู่ในอะไร ? "
          " กายสังขารตั้งอยู่ใน " ขันธ์ " (คือร่างกาย) " 
     ครั้งได้ฟังดังนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา อันตกายอำมาตย์จึงได้ประกาศตนเป็นอุบาสก ขอนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ดังนี้ 


  • ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องบรรพชา 
     ครั้งนั้น พระนาคเสนเถระก็ได้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้ามิลินท์ ขึ้นสู่ปราสาทแล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาจัดไว้ พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงเลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เอง เสร็จแล้วจึงถวายผ้าไตรจีวร
     ครั้งพระนาคเสนครองไตรจีวรแล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
          " ขอให้พระผู้เป็นเจ้านาคเสน จงนั่งอยู่ที่นี้กับพระภิกษุ ๑๐ รูป พระภิกษุผู้เฒ่าผู้แก่นอกนั้น ขอนิมนต์กลับไปก่อน "
     เมื่อพระนาคเสนฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน เราจะสนทนากันด้วยสิ่งใดดี ? "
          " ขอถวายพระพร เราต้องการด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขอจงสนทนาด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์เถิด "
          " ข้าแต่พระนาคเสน บรรพชามีประโยชน์อย่างไร อะไรเป็นประโยชน์สูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า ? "
          " ขอถวายพระพร บรรพชานี้เพื่อจะให้พ้นจากความทุกข์ คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก การเข้าสู่พระนิพพานเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดของอาตมา "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุคคลทั้งหลายบรรพชา เพื่อทำให้แจ้งชึ่งพระนิพพานทั้งนั้น ? " เหตุของผู้บวช
          " ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร คนทั้งหลายไม่ใช่บวชเพื่อพระนิพพานด้วยกันทั้งสิ้น คือ บางพวกก็บวชหนีราชภัย (พระราชาเบียดเบียนใช้สอย) บางพวกก็บวชหนีโจรภัย บางพวกก็บวชเพื่อคล้อยตามพระราชา บางพวกก็บวชเพื่อหนีหนี้สิน บางพวกก็บวชเพื่อยศศักดิ์ บางพวกก็บวชเพื่อเลี้ยงชีวีต บางพวกก็บวชด้วยความกลัวภัย บุคคลเหล่าใดบวชโดยชอบ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า บวชเพื่อพระนิพพาน ขอถวายพระพร " พระเจ้ามิลินท์ทรงซักถามต่อไปว่า " ก็พระผู้เป็นเจ้าเล่า บวชเพื่อพระนิพพานหรือ ? " พระเถระตอบว่า " อาตมภาพบวชแต่ยังเป็นเด็ก ยังไม่รู้เรื่องว่าบวชเพื่อพระนิพพานนี้ ก็แต่ว่าอาตมาคิดว่า พระสมณะที่เป็นศากบุตรพุทธชิโนรสเหล่านี้เป็นบัณฑิต จักต้องให้อาตมภาพศึกษา อาตมภาพได้รับการศึกษาแล้ว จึงรู้เห็นว่าบวชเพื่อพระนิพพานนี้ "
           " พระผู้เป็นเจ้า แก้ถูกต้องดีแล้ว "


  • ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องปฏิสนธิ (เกิด) 
           พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ที่ตายไปแล้วจะไม่กลับมาเกิดอีกมีหรือไม่ ? "
          พระนาคเสนตอบว่า
          " คนบางจำพวกก็กลับมาเกิดอีก บางจำพวกก็ไม่กลับมาเกิดอีก "
          " ใครกลับมาเกิดอีก ใครไม่กลับมาเกิดอีก ? "
          " ผู้มีกิเลส ยังกลับมาเกิดอีก ส่วนผู้ไม่มีกิเลศ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก "
          " ก็พระผู้เป็นเจ้าเล่า จะกลับมาเกิดอีกหรือไม่ ? "
          " ถ้าอาตมภาพยังมีอุปาทาน คือการยึดถืออยู่ ก็จักกลับมาเกิด ถ้าอาตมภาพไม่มีการยึดถือแล้ว ก็จักไม่กลับมาเกิดอีก "
          " ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "


  •  ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องมนสิการ (การกำหนดจิต) 
           พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดไม่เกิดอีกผู้นั้นย่อมไม่เกิดอีกด้วย โยนิโสมนสิการ (คือการกำหนดจิตด้วยอุบายที่ชอบธรรม) ไม่ใช่หรือ ? "
          พระเถระตอบว่า
          " ขอถวายพระพร บุคคลไม่เกิดอีกด้วย โยนิโสมนสิการ คือด้วย ปัญญา และด้วย กุศลธรรมอื่น ๆ "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยนิโสมนสิการ กับ ปัญญา เป็นอันเดียวกันหรืออย่างไร ? "
          " ไม่ใช่อย่างเดียวกัน คือ โยนิโสมนสิการ ก็อย่างหนึ่ง ปัญญา ก็อย่างหนึ่ง แพะ แกะ สัตว์เลี้ยง กระบือ อุฐ โค ลา เหล่าใดมีมนสิการ แต่ปัญญาย่อมไม่มีแก่สัตว์เหล่านั้นขอถวายพระพร "
          " ชอบแล้ว พระนาคเสน "


  • ปัญหาที่ ๘ ถามลักษณะมนสิการ 
          พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อไปว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน มนสิการ มีลักษณะอย่างไร ปัญญา มีลักษณะอย่างไร ? "
          พระนาคเสนตอบว่า
          " มหาราชะ มนสิการ มีความ อุตสาหะ เป็นลักษณะ และมีการ ถือไว้ เป็นลักษณะ ส่วน ปัญญา มีการ ตัด เป็นลักษณะ "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มนสิการ มีการถือไว้เป็นลักษณะอย่างไร ปัญญา มีการตัดเป็นลักษณะอย่างไร ขอจงอุปมาให้แจ้งด้วย ? " 
     อุปมาคนเกี่ยวข้าว 

          " มหาบพิตรทรงรู้จักวิธีเกี่ยวข้าวบ้างไหม ? "
          " อ๋อ…รู้จัก พระผู้เป็นเจ้า "
          " วิธีเกี่ยวข้าวนั้นคืออย่างไร ? "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คือคนจับกอข้าวด้วยมือข้างซ้าย แล้วเอาเคียวตัดให้ขาดด้วยมือข้างขวา "
          " มหาราชะ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด คือ พระโยคาวจรถือไว้ซึ่ง มนสิการ คือกิเลสอันมีในใจของตนแล้ว ก็ตัดด้วย ปัญญา ฉันนั้น มนสิการ มีลักษณะถือไว้ ปัญญา มีลักษณะตัด อย่างนั้นแหละขอถวายพระพร "
          " ถูกดีแล้ว พระนาคเสน "





อธิบาย
คำว่า มนสิการ มีลักษณะ ถือไว้ หมายถึงการกำหนดจิตพิจารณา ขันธ์ ๕ คือร่างกายว่ามีสภาพเป็นอย่างไร

ส่วน ปัญญา มีลักษณะ ตัด หมายถึงยอมรับนับถือกฏธรรมดาว่า ร่างกายมีสภาพเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ยึดถือว่า " มันเป็นเราเป็นของเรา " ดังนี้


  •  ปัญหาที่ ๙ ถามลักษณะศีล 
          พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
          " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้ในข้อก่อน (ปัญหาที่ ๗) ว่า บุคคลไม่เกิดอีกด้วยได้กระทำ กุศลธรรมเหล่าอื่น ไว้ โยมยังไม่เข้าใจ จึงขอถามว่า ธรรมเหล่าไหน…เป็นกุศลธรรมเหล่านั้น ? "
          พระเถระตอบว่า
          " มหาราชะ ศีล ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหล่านี้แหละ เป็นกุศลธรรมเหล่านั้น "
          " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ศีล มีลักษณะอย่างไร ? "
          " มหาราชะ ศีล มีการ เป็นที่ตั้ง เป็นลักษณะ คือ ศีล เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวง อันได้แก่ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ กุศลธรรมทั้งปวงของผู้ตั้งอยู่ในศีลแล้วไม่เสื่อม "
          " ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดอุปมา "
     อุปมา ๕ อย่าง

          " มหาราชะ อันต้นไม้ใบหญ้าทั้งสิ้น ได้อาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดินแล้ว จึงเจริญงอกงามขึ้นฉันใด พระโยคาวจรได้อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทำให้เกิด อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ขึ้นได้ ฉันนั้น "
          " โปรดอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป "
          " มหาราชะ การงานทั้งสิ้นที่ทำบนบกต้องอาศัยแผ่นดินตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงทำได้ฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล จึงทำให้เกิดอินทรีย์ ๕ ขึ้นได้ ฉันนั้น "
          " โปรดอุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "



          " มหาราชะ บุรุษที่เป็นนักกระโดดโลดเต้น ประสงค์จะแสดงศิลปะ ก็ให้คนถากพื้นดิน ให้ปราศจากก้อนหินก้อนกรวด ทำให้สม่ำเสมอดีแล้ว จึงแสดงศิลปะบนพื้นดินนั้นได้ ฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีลตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทำให้เกิดอินทรีย์ ๕ ขึ้นได้ ฉันนั้น "
          " นิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นกว่านี้ "
          " มหาราชนะ นายช่างประสงค์จะสร้างเมืองให้ปราบพื้นที่จนหมดเสี้ยนหนามหลักตอ ทำพื้นที่ให้สม่ำเสมอดีแล้ว จึงกะถนนต่าง ๆ มีถนน ๔ แพร่ง ๓ แพร่ง เป็นต้น ไว้ภายในกำแพง แล้วจึงสร้างเมืองลง ฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทำให้เกิดอินทรีย์ ๕ ขึ้นได้ ฉันนั้น "
          " ขอจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นกว่านี้อีก "
          " มหาราชะ พลรบผู้เข้าสู่สงคราม ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่อันเสมอดี กระทำพื้นที่ให้เสมอดีแล้ว จึงกระทำสงคราม ก็จักได้ชัยชนะใหญ่ในไม่ช้าฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทำให้เกิดอินทรีย์ ๕ ให้เกิดได้ ฉันนั้น ข้อนี้ สมกับที่สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาตรัสไว้ว่า " ภิกษุผู้มีความเพียรรู้จักรักษาตัว มีปัญญาตั้งอยู่ในศีลแล้ว ทำจิตและปัญญาให้เกิดขึ้น ย่อมสะสางซึ่งความรุงรังอันนี้ได้ ศีลนี้เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งหลายเหมือนกับพื้นธรณี อันเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งหลาย ศีลนี้เป็นรากเหง้าในการทำกุศลให้เจริญขึ้น ศีลนี้เป็นหัวหน้าในศาสนาขององค์สมเด็จพระชินสีห์ทั้งปวง " กองศีลอันดี ได้แก่ พระปาฏิโมกข์ ขอถวายพระพร "
          " ชอบแล้ว พระนาคเสน "

มิลินทปัญหา ตอนที่3


- ตอนที่ ๓ -


  • พระนาคเสนไปศึกษาพระไตรปิฏกกับพระธรรมรักขิต

ในคราวนั้นมีเศรษฐีชาวเมืองปาตลีบุตรคนหนึ่ง ได้เดินทางมาค้าขายตามชนบททั้งหลาย ครั้นขายของแล้วก็บรรทุกสินค้าใหญ่น้อยลงในเกวียน ๕๐๐ เล่ม ออกเดินทางกลับเมืองปาตลีบุตรได้เห็นพระนาคเสนออกเดินทางไป จึงให้หยุดเกวียนไว้ แล้วเข้าไปกราบนมัสการไต่ถามว่า
          “ พระคุณเจัาจะไปไหนขอรับ ? ”
          พระนาคเสนตอบว่า
          “ อาตมาจะไปเมืองปาตลีบุตร ”
          เศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจึงกล่าวว่า
          “ ถ้าอย่างนั้นนิมนต์ไปกับโยมเถิดจะสะดวกดี “
          “ ดีแล้ว คหบดี ”
          ลำดับนั้น เศรษฐีจึงจัดอาหารถวายเวลาฉันเสร็จแล้ว เศรษฐีจึงถามว่า
          “ พระคุณเจ้าชื่ออะไรขอรับ ”
          “ อาตมาชื่อนาคเสน ”
          “ ท่านรู้พระพุทธวจนะหรือ ? ”
          “ อาตมารู้เฉพาะอภิธรรม ”
          “ เป็นลาภอันดีของโยมแล้ว โยมก็ได้เรียนอภิธรรม ท่านก็รู้อภิธรรม ขอท่านจงแสดงอภิธรรมให้โยมฟังสักหน่อย ”

เมื่อพระนาคเสนแสดงอภิธรรมจบลงเศรษฐีก็ได้สำเร็จพระโสดาบัน แล้วพากันออกเดินทางต่อไป ครั้งไปถึงที่ใกล้เมืองปาตลีบุตร เศรษฐีจึงกล่าวว่า
          “ ข้าแต่พระนาคเสน ทางนั้นเป็นทางไปสู่อโศการาม พระผู้เป็นเจ้าจงไปทางนี้เถิด แต่ทว่าอย่าเพิ่งไปก่อน ขอนิมนต์ให้พรแก่โยมสักอย่างหนึ่งเถิด ”
          พระนาคเสนตอบว่า
          “ อาตมาเป็นบรรพชิต จักให้พรอะไรได้ ”
          “ พรใดที่สมควรแก่สมณะ ขอท่านจงให้พรนั้น ”
          “ ถ้ากระนั้นโยมจงรับเอาพร คือ การกุศล อย่าประมาทลืมตนในการกุศล พรอันนี้มีผลโดยสุจริต ”
          ขณะนั้นเศรษฐีจึงถวายผ้ากัมพลพร้อมกับบอกว่า
          “ ขอท่านจงกรุณารับกัมพลอันยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ของโยมนั้นไปนุ่งห่มเถิด ”
          พระนาคเสนจึงรับเอาผ้านั้นไว้ ส่วนว่าเศรษฐีถวายนมัสการแล้ว จึงกราบลามาสู่ปาตลีบุตรนคร

ส่วนพระนาคเสนก็ออกเดินทางไปสู่สำนักพระธรรมรักขิตที่อโศการาม กราบไหว้แล้วจึงเรียนว่า
          “ ขอท่านได้โปรดสอนพระพุทธวจนะให้กระผมด้วยเถิดครับ”




  • ศึกษาร่วมกับภิกษุชาวลังกา

ในคราวนั้นยังมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าพระติสสทัตตะ ได้เรียนพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ในเมืองลังกาจบแล้วปรารถนาจะเรียนพระพุทธวจนะอันเป็นภาษามคธ จึงโดยสารสำเภามาสู่สำนักพระธรรมรักขิตนี้ เมื่อกราบไหว้แล้วจึงกล่าวว่า
          “ กระผมมาจากที่ไกล ขอท่านจงบอกพระพุทธวจนะให้แก่กระผมด้วยเถิด”
          “ เธอกับพระติสสทัตตะควรเรียนพระพุทธวจนะด้วยกัน จะได้เป็นเพื่อนสาธยายด้วยกัน อย่าร้อนใจไปเลย ”
          พระนาคเสนจึงกล่าวว่า
          “ กระผมมิอาจที่จะเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกันด้วยคำภาษาสิงหลได้ ด้วยพระติสสทัตตะนี้เจรจาเป็นภาษาสิงหล ”

     เป็นคำถามว่า เหตุไฉนเมื่อพระอาจารย์ว่าจะให้พระติสสทัตตะกับพระนาคเสนเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน พระนาคเสนนั้นว่าไม่เรียนพร้อมกัน ด้วยพระติสสทัตตะกล่าวคำภาษาสิงหล (อันเป็นภาษาชาวลังกา)
     แก้ความนั้นว่า พระนาคเสนเข้าใจว่าอาจารย์คงจะบอกพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ด้วยภาษาสิงหลนี้เป็นคำวิเศษกลัวว่าชาวประเทศสาคลราชธานีจะไม่เข้าใจ พระนาคเสนนั้นตั้งใจจะเรียนพระพุทธวจนะที่จะให้เข้าใจของชาวสาคลนคร มีพระเจ้ามิลินท์เป็นประธาน

          
พระธรรมรักขิตจึงบอกขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า
          “ เธอจงเรียนพร้อมกับพระติสสทัตตะเพราะพระติสสทัตตะเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ผู้ไม่รู้จักภาษา ”
          พระนาคเสนจึงคิดได้ว่าอาจารย์คงไม่บอกเป็นภาษาสิงหลดอก อาจจะบอกเป็นภาษามคธ เราผิดเสียแล้ว จะต้องขอโทษพระติสสทัตตะ
เมื่อพระนาคเสนคิดได้อย่างนั้น จึงกราบขอโทษแล้วเริ่มเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน โดยเรียนอยู่ ๓ เดือนก็จบพระไตรปิฏก ซักซ้อมอีก ๓ เดือนก็ชำนาญ



 พระนาคเสนสำเร็จพระอรหันต์


ฝ่ายพระธรรมรักขิตเห็นพระนาคเสนยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงมีเถรวาจาเป็นทางจะให้รู้โดยคำอุปมาว่า

          “ นี่แน่ะ นาคเสน ธรรมดาว่านายโคบาลได้แต่เลี้ยงโค ไม่ได้รู้รสแห่งนมโค มีแต่ผู้อื่นได้ดื่มรสแห่งนมโค ฉันใด ปุถุชนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ถึงแม้จะทรงพระไตรปิฏก ก็มิได้รู้รสแห่งสามัญผล คือ มรรคผล อันควรแก่สมณะเปรียบเหมือนกับนายโคบาล ที่รับจ้างเลี้ยงโคและรีดนมโคขาย แต่มิได้เคยลิ้มชิมรสแห่งนมโค ฉันนั้น ”

           พระนาคเสนได้ฟังคำเช่นนั้นก็เข้าใจ จึงมีวาจาว่า “ คำสั่งสอนของท่านเท่านี้พอแล้วขอรับ ” ท่านกล่าวเพียงเท่านี้แล้วก็ลามาสู่อาวาส ต่อมาก็ได้พยายามเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ในเวลากลางคืนอันเป็นวันที่พระธรรมขิตให้นัยนั้นเอง ในขณะที่พระนาคเสนสำเร็จพระอรหันต์นั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ แผ่นดินอันใหญ่นี้ก็บันลือลั่นหวั่นไหว ทั้งมหาสมุทรสาครก็ดีฟองนองละลอก ยอดภูเขาก็โอนอ่อนโยกคลอนไปมา เทวดาอินทร์พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ ห่าฝนทิพยจุณจันทน์และดอกไม้ทิพย์ ก็ตกลงมาบูชาในกาลนั้น




 พระอรหันต์ให้ทูตไปตามพระนาคเสน


     เมื่อพระนาคเสนได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ไปประชุมกันที่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาหิมพานต์ แล้วส่งฑูตไปตามพระนาคเสน

     เมื่อพระนาคเสนทราบแล้ว ก็หายวับจากอโศการาม มาปรากฏข้างหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ที่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาเขาหิมพานต์ กราบไหว้พระอรหันต์ทั้งหลายแล้วจึงถามว่า
          “ เพราะเหตุไรขอรับ จึงให้ฑูตไปตามกระผมมา ? ”
          พระอรหันต์ผู้เป็นหัวหน้าตอบว่า
          “ เป็นเพราะมิลินทราชาเบียดเบียนพวกเราด้วยการไต่ถามปัญหา เธอจงไปทรมานมิลินทราชานั้นเถิด ”
          พระนาคเสนจึงเรียกว่า
          “ อย่าว่าแต่มิลินทราชาเลยบรรดาพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ที่มีปัญหาเหมือนมิลินทราชานี้ จะซักถามปัญหาตื้นลึกประการใด กระผมจะแก้ให้สิ้นสงสัย ให้มีพระทัยยินดีด้วยการแก้ปัญหา ขอพระเถรเจ้าทั้งหลายจงไปสู่สาคลนคร ด้วยความไม่สะดุ้งกลัวเถิด”




  • พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปถามปัญหาพระอายุบาล

     ในคราวนั้น ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่งมีชื่อว่า พระอายุบาล ท่านเป็นผู้ชำนาญในนิกายทั้ง ๕ (ฑีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตนิกาย ขุททกนิกาย) ได้อาศัยอยู่ที่อสงไขยบริเวณ
     ฝ่ายพระเจ้ามิลินทร์ทรงดำริว่า ราตรีนี้ดีมาก เราควรจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใดดีหนอ ใครหนอจะสามารถสนทนากับเราได้ ใครหนอจะสามารถตัดความสงสัยของเราได้ ทรงดำริแล้วก็โปรดมีพระราชโองการตรัสถาม พวกราชบริพารโยนกทั้ง ๕๐๐ ก็กราบทูลว่า
          “ มีพระเถระอยู่องค์หนึ่งชื่อว่าพระอายุบาล ท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฏก ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีการแสดงธรรมวิจิตรมีปฏิภาณดี ชำนาญในนิกายทั้ง ๕ อยู่ที่อสงไขยบริเวณ ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปถามปัญหาต่อพระอายุบาลเถิด พระเจ้าข้า ”
          “ ถ้าอย่างนั้นขอจงไปแจ้งให้พระผู้เป็นเจ้าทราบก่อน”

     ลำดับนั้น เนมิตติยอำมาตย์จึงใช้ให้คนไปแจ้งแก่พระอายุบาลว่า พระเจ้ามิลินท์จะเสด็จมาหา พระอายุบาลตอบว่า เชิญเสด็จมาเถิด
     ต่อจากนั้นพระเจ้ามิลินท์พร้อมกับหมู่โยนกเสนา ๕๐๐ ก็เสด็จขึ้นรถไปที่อสงไขยบริเวณ เมื่อไปถึงจึงตรัสสั่งให้หยุดรถทรงไว้ เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่าเข้าสู่สำนักพระอายุบาล นมัสการแล้วกระทำปฏิสันถารโอภาปราศรัยกันไปมา จึงมีพระราชดำรัสตรัสถามว่า
          “ ข้าแต่พระอายุบาล บรรพชามีประโยชน์อย่างไร อะไรเป็นประโยชน์เยี่ยมของท่าน? ”
          พระอายุบาลตอบว่า
          “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร การบรรพชามีประโยชน์เพื่อจะได้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ อันจะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้หลาย”
          “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คฤหัสถ์ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ จะมีคุณวิเศษบ้างหรือไม่ ? ”

     จำนวนคฤหัสถ์ผู้ได้มรรคผล
           “ ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ที่ประกอบไปด้วยความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยทรงศีล ๕ หรือศีล ๘ ไว้มั่นคง ให้ท่านและภาวนาอุตส่าห์ฟังธรรม ก็จัดว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่ตนเอง
          ดังตัวอย่าง เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระทศพรยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้เสด็จไปยังเมืองพาราณสี โปรดประทานธรรมเทศนา พระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ในป่าอิสิปตนมิคทายวัน
          ครั้งจบลงแล้วพรหมทั้ง ๑๘ โกฏิได้สำเร็จมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พรหมทั้งหลายล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้
          ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เวสสันดรชาดก ขทิรังคชาดกราหุโลวาทสูตร และทรงแสดงธรรมที่ประตูสังกัสสคร มีผู้สำเร็จมรรคผลประมาณ ๒๐ โกฏิ คนทั้งหลายนั้น กับเทพยดาและพรหมทุกชั้น ล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น ไม่ใช่บรรพชิตเลย”

     กรรมของพระที่ถือธุดงค์
          เมื่อพระอายุบาลแก้ไขดังนี้ พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า
          “ ข้าแต่ท่านอายุบาล ถ้าอย่างนั้นบรรพชาก็ไม่มีประโยชน์อะไร พวกสมณะทั้งหลายที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ที่ได้บรรพชารักษาธุดงค์ต่างๆ ทำให้ลำบากกายใจนั้น ล้วนเป็นด้วยผลแห่งบาปกรรมในปางก่อนทั้งนั้น นี่แน่ะ ท่านอายุบาล พวกพระที่ถือ “ เอกา ” ฉันจังหันหนเดียว แต่ชาติก่อนเป็นโจรเที่ยวปล้นชาวบ้าน ไปแย่งชิงอาหารเขา ครั้งชาตินี้เล่า ผลกรรมนั้นดลจิตใจฉันหนเดียว ดูบรรพชานี้ไม่มีผล ถึงจะรักษาศีลรักษาตบะ รักษาพรหมจรรย์ ก็ไม่มีผลอันใดประการหนึ่งเล่า พวกที่ถือธุดงค์ “ อัพโพกาส ” คืออยู่ในกลางแจ้งนั้น เมื่อชาติก่อนต้องได้เป็นพวกปล้นบ้านเผาเรือนชาตินี้จึงไม่มีที่กินที่อยู่ ส่วนพวกถือ “ เนสัชชิกธุดงค์ ” คือถือไม่นอนเป็นกิจวัตร ได้แต่เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น พวกนั้นต้องเป็นโจรปล้นคนเดินทางไว้เมื่อชาติก่อน จับคนเดินทางได้แล้วก็ผูกมัดให้นั่งจับเจ่าอยู่ท่านั้น โยมคิดดูซึ่งธุงดค์นี้ไม่มีผล จะเป็นศีล จะเป็นตบะ จะเป็นพรหมจรรย์ก็หามิได้ ก็จะบรรพชารักษาธุดงค์ไปเพื่ออะไร ปฏิบัติในเพศคฤหัสถ์ก็ได้มรรคผลเหมือนกัน เป็นคฤหัสถ์อยู่มิดีกว่าหรือ พระผู้เป็นเจ้า ? ”
          เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้ พระอายุบาลก็ขี้คร้านที่จะตอบจึงนั่งนิ่งไป มิได้ถวายพระพรโต้ตอบต่อข้อปัญหานั้น พวกโยนก ๕๐๐ จึงกราบทูลขึ้นว่า 
          “ ข้าแต่มหาราชเจ้า พระภิกษุองค์นี้เป็นักปราชญ์ ได้สดับเล่าเรียนมาก แต่ไม่แกล้วกล้าที่จะวิสัชนา จึงมิได้โต้ตอบต่อคำถามของพระองค์”
          พระเจ้ามิลินท์ได้ฟังคำข้าราชบิรพารทูลเฉลยก็หาสนใจไม่ ทอดพระเนตรดูแต่พระอายุบาล เห็นพระอายุบาลนิ่งอยู่ก็ทรงพระสรวล(หัวเราะ) พร้อมกับตบพระหัตถ์ตรัสเย้ยว่า
          “ ชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว ไม่มีสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ใด ๆ อาจสนทนากับเราได้ อาจแก้ความสงสัยของเราได้เลย เห็นทีจะสิ้นสุดครั้งนี้แล้วหนอ… ”
          ฝ่ายหมู่โยนกได้ฟังก็มิได้ตอบคำสนองพระราชโองการ ส่วนพระอายุบาลได้เห็นอาการของพระเจ้ามลินท์อย่างนั้น จึงคิดว่าเราเป็นสมณะไม่สมควรทะเลาะโต้เถียงกับใคร ที่จริงปัญหานี้จะวิสัชนาให้ฟังอีกก็ได้แต่เป็นเพราะพระราชาถามปัญหาที่ไม่ควรถาม คิดอย่างนี้แล้ว จึงเก็บอาสนะลุกไปเสีย

     หลังจากพระเจ้ามิลินท์เสด็จเข้าสู่พระนครแล้ว จึงทรงดำริว่า จะต้องมีภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งอาจสนทนากับเราได้อย่างไม่สงสัย จึงตรัสถามเนมิตติยอำมาตย์ขึ้นอีกว่า
          “ นี่แน่ะ เนมิตติยะ ภิกษุผู้จะโต้ตอบกับเราได้ ยังมีอยู่อีกหรือไม่? ”




  •  กิตติศัพท์ของพระนาคเสน



     ในคราวนั้น พระนาคเสนผู้ห้อมล้อมด้วยหมู่สมณะ ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวารชำนาญในพระไตรปิฎก สำเร็จไตรเพท มีความรู้แตกฉาน มีอาคมพร้อม สำเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรมในศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา อันประกอบด้วยองค์ ๙ ถึงแล้วซึ่งบารมีญาณ
     เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งปวงเหมือนกับพญาเขาสิเนรุราช องอาจดั่งราชสีห์ มีใจสงบระงับเป็นอันดี มีปรีชาญาณล้ำเลิศ ย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์แก่พระพุทธศาสนาได้อย่างเด็ดขาด
     เป็นผู้ฉลาดในอุบายแนะนำ ชำนาญในอรรถธรรมทั้ปวง ไม่มีผู้ต่อสู้ ไม่มีผู้กั้นกางได้ ไม่มีผู้ล่วงเกินได้ ละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งปวง กระทำซึ่งแสงสว่างให้เกิด กำจัดเสียซึ่งความมืด
     เป็นผู้มีถ้อยคำประเสริฐ แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ล่วงลุถึงซึ่งบารมีญาณ มีปรีชาญาณเปรียบดังลูกคลื่นในท้องมหาสมุทร เป็นผู้สูงสุดกว่าหมู่คณะทั้งหลาย ล่วงรู้ลัทธิของหมู่คณะที่ไม่ดีทั้งหลาย ย่ำยี่เสียซึ่งลัทธิเดียร์ถีย์ทั้งปวง
     เป็นผู้ฉลาดเฉียงแหลมแกล้วกล้าสามารถ มากไปด้วยความสุขกายสบายใจเป็นผู้ทำสงฆ์ให้งดงาม 
     เป็นพระอรหันต์ผู้ล้ำเลิศ เป็นที่สักการบูชาของพุทธบริษัทั้งสี่
     เป็นผู้ที่จะแสดงบาลี อรรถกถา อันทำให้เกิดความเลื่อมใสแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้มีความรู้ ผู้ประกาศคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรเจ้า อันประกอบด้วยองค์ ๙ ผู้จะเชิดชูซึ่งแก้วอันประเสริฐในพระพุทธศาสนาให้ปรากฏ
     เป็นผู้จะยกขึ้นซึ่งเครื่องบูชาพระธรรมผู้จะตั้งขึ้นซึ่งยอดพระธรรม ผู้จะยกขึ้นซึ่งธงชัยคือพระธรรมผู้จะเป่าสังข์คือพระธรรม ผู้จะตีกลองคือพระธรรมให้นฤนาท ผู้จะดีดกระจับปี่สีซอ โทน รำมะนา ดนตรี อันได้แก่อริยสัจ ๔
     เป็นผู้ที่จะบันลือเสียงดังพญาช้าง พญาอุสุภราช พญาราชสีห์ ผู้จะทำให้โลกเอิบอิ่มด้วยห่าฝนอันใหญ่ คือพระธรรมให้พิลึกกึกก้อง เรืองรองดังสายฟ้าด้วยญาณปรีชาพระนาคเสนไปถึงอสงไขยบริเวณ

     เมื่อพระนาคเสนได้กราบลาพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิแล้ว ก็ได้จาริกไปตามคามนิคมชนบท เทศน์โปรดประชาชนทั้งหลายโดยลำดับ ก็บรรลุถึงซึ่งสาคลนครอันเป็นที่ประทับของพระเจ้ามิลินท์ ผู้เป็นปิ่นแห่งโยนก
     พระผู้เป็นเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ อันเป็นที่อยู่แห่งพระอายุบาลในกาลนั้น เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
    พระนาคเสนเถระผู้เป็นพหูสูต มีการแสดงธรรมประเสริฐ มีสติปัญญาสุขุมคัมภีรภาพ แกล้วกล้าสามารถในที่ประชุมชน ฉลาดในเหตุผลทั้งปวง มีปฏิภาณว่องไวหาผู้เปรียบมิได้ ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฏกอันประเสริฐ มีหมู่พระภิกษุสงฆ์ล้วนแต่ทรงพระไตรปิฏกห้อมล้อมเป็นบริวาร ได้ไปถึงอสงไขยบริเวณ แล้วพักอยู่ในที่นั้น

     พระนาคเสนเถระนั้น ห้อมล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม เที่ยงตรงดังตาชั่ง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด เหมือนกับพญาไกรสรราชสีห์ในป่าใหญ่ ฉะนั้น พระนาคเสนนั้นเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง มีความฉลาดรอบคอบในสิ่งที่ควรและไม่ควรทั้งปวง เป็นผู้ประกาศซึ่งอรรถธรรมอันล้ำเลิศ มีคุณธรรมปรากฏไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น เป็นพหูสูตทรงพระไตรปิฏก ไม่มีผู้เสมอเหมือนดังนี้



  •  พระเจ้ามิลินท์ได้ยินชื่อทรงตกพระทัยกลัว


     ในคราวนั้น เทวมันติอำมาตย์ก็ได้ฟังข่าวเล่าลือ ซึ่งเกียรติคุณของพระนาคเสนดังแสดงมา จึงกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า
          “ ขอได้โปรดก่อนเถิดมหาราชเจ้า บัดนี้มีข่าวเล่าลือว่า มีพระภิกษุองค์หนึ่งชื่อว่า นาคเสน เป็นผู้แสดงธรรมอันวิเศษ มีสติปัญญเฉียบแหลม แกล้วกล้าสามารถในที่ทั้งปวง เป็นผู้สดับเล่าเรียนมาก มีถ้อยคำไพเราะเสนาะโสต มีปฏิภาณดี แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ถึงซึ่งบารมีญาณ ไม่มีเทพยดาอินทร์พรหม ผู้ใดผู้หนึ่งจะสู้ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนุษย์ พระเจ้าข้า ”
          เมื่อพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสดับคำว่า “ พระนาคเสน ” เท่านี้ก็ตกพระทัยกลัว มีพระโลมาลุกชันขึ้นทันที พระบาทท้าวเธอจึงตรัสถามเทวมันติยอำมาตย์ว่า
          “ เวลานี้พระนาคเสนอยู่ที่ไหน เราใคร่เห็น ขอให้พระนาคเสนทราบ? ”
          เทวมันติยอำมาตย์จึงใช้ให้ทูตไปแจ้งแก่พระนาคเสนว่า พระเจ้ามิลินท์มีพระราชประสงค์จะพบเห็น เมื่อทูตไปแจ้งแก่พระเถระแล้ว พระเถระจึงตอบว่า ถ้าอย่างนั้นขอจงเสด็จมาเถิด




  • พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาพระนาคเสน

     ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าราชบริพารชาวโยนก ๕๐๐ เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง พรั่งพร้อมด้วยพลนิกายเป็นอันมาก เสด็จไปหาพระนาคเสนที่อสงไขยบริเวณ
     คราวนั้น พระนาคเสนกับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ ได้นั่งพักอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ พอพระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่ไกล จึงตรัสถามขึ้นว่า
          “ บริวารเป็นอันมากนั้นของใคร ? ”
          เทวมัติยะทูลตอบว่า
          “ บริวารเป็นอันมากนั้น เป็นบริวารของพระนาคเสน พระเจ้าข้า”
          พอพระเจ้ามิลินท์ได้แลเห็นพระนาคเสนแต่ที่ไกลเท่านั้น ก็เกิดความสะดุ้งกลัว หวาดหวั่นในพระทัย มีพระโลมชาติชูชัน(ขนลุก) เสียแล้ว
          คราวนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงสะดุ้งตกพระทัยยิ่งนักหนา 
          อุปมาดังพญาช้างถูกห้อมล้อมด้วยดาบและขอ และ 
          เหมือนกับนาคถูกครุฑห้อมล้อมไว้ 
          เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกที่ถูกงูเหลือมล้อมไว้ 
          เหมือนกับหมีถูกฝูงกระบือป่าห้อมล้อม
          เหมือนกับคนถูกพญานาคไล่ติดตาม
          เหมือนกับหมู่เนื้อถูกเสือเหลืองไล่ติดตาม
          เหมือนกับงูมาพบหมองู 
          เหมือนกับหนูมาพบแมว 
          เหมือนกับปีศาจมาพบหมอผี
          เหมือนกับพระจันทรเทพบุตรตกอยู่ในปากราหู
          เหมือนกับนกอยู่ในกรง
          เหมือนกับปลาอยู่ในลอบในไซ 
          เหมือนกับบุรุษที่ตกเข้าไปในป่าสัตว์ร้าย 
          เหมือนกับยักษ์ทำผิดต่อท้าวเวสสุวัณ 
          เหมือนกับเทพบุตรผู้จะสิ้นอายุรู้ว่าตัวจะจุติ สุดที่จะกลัวตัวสั่น ฉันใด พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนแต่ไกล ให้รู้สึกหวาดกลัวอยู่ในพระทัย ฉันนั้น แต่พระบาทท้าวเธอทรงนึกว่า อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งดูถูกเราได้เลย จึงได้ทรงแข็งพระทัยตรัสขึ้นว่า
          “ นี่แน่ะ เทวมันติยะ เธออย่าได้บอกพระนาคเสนให้แก่เราเลยว่าเป็นองค์ใด เราจะให้รู้จักพระนาคเสนเอง ”
          เทวมันติยะอำมาตย์จึงกราบทูลว่า
          “ ขอให้โปรดทรงทราบเองเถิดพระเจ้าข้า ”

     ในคราวนั้น พระนาคเสนเถระได้นั่งอยู่ในท่ามกลางของพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ คือ นั่งอยู่ข้างหน้าของพระภิกษุ ๔ หมื่นองค์ที่มีพรรษาอ่อนกว่า แต่นั่งอยู่ข้างหลังของพระภิกษุผู้แก่กว่าอีก ๔ หมื่นองค์
     ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ก็ทอดพระเนตรดูไปทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ท่ามกลางของภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ก็ได้เห็นพระนาคเสนนั่งอยู่ท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ มีกิริยาองอาจดังราชสีห์ จึงทรงทราบว่าองค์นั้นแหละเป็นพระนาคเสน จึงตรัสถามขึ้นว่า
          “ เทวมันติยะ องค์นั่งในท่ามกลางนั้น หรือ..เป็นพระนาคเสน? ”
          เทวมันติยะกราบทูลว่า
          “ ถูกแล้วพระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบ พระนาคเสนได้ดีแล้ว” 
          พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงดีพระทัยว่า เรารู้จักพระนาคเสนด้วยตนเอง แต่พอพระบาทท้าวเธอแลเห็นพระนาคเสนเท่านั้น ก็เกิดความกลัว ความหวาดหวั่น มีพระโลมชาติชูชัน

     เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
     พระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสน ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณธรรม ผู้ได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอันดีแล้ว จึงตรัสขึ้นว่า
          “ เราได้พบเห็นสมณพราหมณ์และบัณฑิตมาเป็นอันมาก ได้สนทนากับคนทั้งหลายมาเป็นอันมากแล้วไม่เคยมีความสะดุ้งกลัวเหมือนในวันนี้เลย วันนี้ความปราชัยพ่ายแพ้จักต้องมีแก่เราเป็นแน่ไม่สงสัย ชัยชนะจักมีแก่พระนาคเสนแน่ เพราะจิตใจของเราไม่ตั้งอยู่เป็นปกติเหมือนแต่ก่อนเลย” ดังนี้


 จบเรื่องเบื้องต้น

มิลินทปัญหา ตอนที่ 2

- ตอนที่ ๒ -


  •  มหาเสนะเทพบุตรจุติจากเทวโลก

ฝ่ายมหาเสนะเทพบุตร ก็ได้จุติจากเทวโลกลงมาถือกำเนิดในครรภ์ของนางพราหมณี ในขณะนั้นก็มีอัศจรรย์ ๓ ประการปรากฏขึ้น คือ

     ๑. บรรดาอาวุธทั้งหลาย ได้รุ่งเรืองเป็นแสงสว่าง
     ๒. ฝนตกใหญ่นอกฤดูกาล
     ๓. เมฆใหญ่ตั้งขึ้น 


(ตอนนี้ใน ฉบับพิศดาร กล่าวว่าอัศจรรย์ทั้งนี้ด้วยบารมีของมหาเสนะเทพบุตรที่ได้กระทำมา บอกเหตุที่เกิดมานี้ว่า จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองไปถ้วน ๕๐๐๐ พระวัสสา)

จาก ฉบับ ส.ธรรมภักดี ได้บรรยายต่อไปว่า ลำดับนั้น พระโรหนเถระก็ไปเที่ยวบิณฑบาตที่ตระกลูนั้น เริ่มแต่วันนั้นไปตลอด ๗ ปี กับ ๑๐ เดือน แต่ไม่ได้อะไรเลย เพียงแต่การยกมือไหว้หรือการแสดงความเคารพก็ไม่ได้ ได้แต่การด่าว่าเท่านั้น    เมื่อล่วงมาจาก ๗ ปีนั้น จึงได้เพียงคำไต่ถามเท่านั้นคืออยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพราหมณ์นั้นกลับมาจากดูการงานนอกบ้าน ก็ได้พบพระเถระเดินสวนมา จึงถามว่า
     “ นี่แน่ะ บรรพชิต ท่านได้ไปที่บ้านเรือนของเราหรือ? ”
     พระเถระตอบว่า “ ได้ไป ”
     พราหมณ์จึงถามต่อไปว่า
     “ ท่านได้อะไรบ้างหรือ ? ”
     ตอบว่า “ ได้ “
     พราหมณ์นั้นนึกโกรธ จึงรีบไปถามพวกบ้านว่า
     “ พวกท่านได้ให้อะไรแก่บรรพชิตนั้นหรือ ? ”
      เมื่อพวกบ้านตอบว่า ไม่ได้ให้อะไรเลย พราหมณ์ก็นิ่งอยู่ เวลารุ่งขึ้นวันที่สองพราหมณ์นั้นจึงไปยืนอยู่ที่ประตูบ้านด้วยคิดว่าวันนี้แหลพบรรพชิตนั้นมา เราจักปรับโทษมุสาวาทให้ได้ พอพระเถระไปถึง พราหมณ์นั้นก็กล่าวขึ้นว่า
     “ นี่แน่ะ บรรพชิต เมื่อวานนี้ท่านไม่ได้วัตถุสิ่งใดไปจากบ้านเรือนของเราเลย ทำไมจึงบอกว่าได้ การกล่าวมุสาวาทเช่นนี้ สมควรแก่ท่านแล้วหรือ? ”
     พระโรหนะจึงตอบว่า
     “ นี่แน่ะ พราหมณ์ เราเข้าสู่บ้านเรือนของท่านตลอด ๗ ปีกับ ๑๐ เดือนแล้วยังไม่เคยได้อะไรเลย พึ่งได้คำถามของท่านเมื่อวานนี้เพียงคำเดียวเท่านั้น เราจึงตอบว่าได้”
     เมื่อพราหมณ์ได้ฟังดังนี้ก็ดีใจ จึงคิดว่า พระองค์นี้เพียงแต่ได้คำปราศัยคำเดียวเท่านั้น ก็ยังบอกในที่ประชุมชนว่าได้ ถ้าได้ลาภอย่างใดอย่างหนึ่งไปจะไม่สรรเสริญหรือ นี่เพียงแต่ได้คำถามคำเดียวเท่านั้นก็ยังสรรเสริญ
     เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว จึงสั่งพวกบ้านว่าพวกท่านจงเอาข้าวของเราถวายบรรพชิตนี้วันละ ๑ ทัพพีทุกวันไป ต่อนั้นพราหมณ์ก็เลื่อมใสต่ออิริยาบท และความสงบเสงี่ยมของพระเถระยิ่งขึ้นเป็นลำดับไป จึงขอนิมนต์ว่า

      “ ขอท่านจงมาฉันอาหารประจำ ที่บ้านเรือนของข้าพเจ้าทุกเช้าไป”
     พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่พราหมณ์ก็ได้ถวายอาหารคาวหวาน อันเป็นส่วนของตนแก่พระเถระทุกเช้าไป พระเถระฉันแล้วเวลาจะกลับ ก็กล่าวพระพุทธพจน์วันละเล็กน้อยทุกวันไป
     คราวนี้จะย้อนกล่าวถึงนางพราหมณีนั้นอีก กล่าวคือ นางพราหมณีนั้นล่วงมา ๑๐ เดือน ก็คลอดบุตรให้ชื่อว่า “นาคเสน”

  • นาคเสนกุมารศึกษาไตรเพท

เมื่อนาคเสนกุมารเติบโตขึ้นอายุได้ ๗ ขวบ มารดาบิดาก็ให้ศึกษาไตรเพททั้ง ๓ กับศึลปศาสตร์อื่น ๆ สำหรับตระกลูพราหมณ์ร่ำเรียนสืบๆ กันมา นาคเสนกุมารรับว่าจะเรียนเอาให้ได้
ส่วนว่าโสนุตตรพราหมณ์ผู้เป็นบิดา จึงให้เชิญพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์มาที่เรือนแล้วก็ให้ทรัพย์ประมาณ ๑ พันกหาปณะเป็นค่าจ้าง ฝ่ายนาคเสนกุมารฟังพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกวิชาเพียงครั้งเดียว ก็สามารถจำได้จบครบทุกประการ จึงได้มีวาจาถามว่า
     “ ข้าแต่บิดา คำสอนสำหรับสกุลพราหมณ์สิ้นสุดเท่านี้หรือ..หรือว่ายังมีอีกประการใดเล่า? ”
     พราหมณ์ผู้เป็นบิดาจึงตอบว่า
     “ นี่แน่ะนาคเสน คำสอนสำหรับพราหมณ์มาแต่ก่อนเก่านั้น ก็จบเพียงแค่นี้ ”
     เมื่อนาคเสนร่ำเรียนศึกษาจากสำนักพราหมณาจารย์แล้ว ก็ให้ทรัพย์ค่าจ้างบอกวิชาแล้ว ได้รับเอาซึ่งกำใบลานที่อาจารย์ให้เป็นกำใบลานหนังสือพราหมณ์ สำหรับที่จะได้ดูและอ่านการไตรเพท และศิลปศาสตร์ทุกสิ่งอัน
     อยู่มาวันหนึ่ง นาคเสนกุมารจึงลงจากปราสาท ไปยืนพิจารณาเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุด แห่งไตรเพททั้ง ๓ กับศิลปศาสตร์ทั้งปวง อยู่ที่ศาลาท้ายประตูทุกวันไป จนตลอดถึง ๓ วัน เมื่อไม่เห็นมีแก่นสารอันใด จึงเกิดความไม่สบายใจว่า สิ่งเหล่านี้เปล่าทั้งนั้นไม่มีสาระประโยชน์อันใดเลย

  • พระโรหนะไปนำนาคเสนกุมารเพื่อจะให้บรรพชา

     ในคราวนั้น พระโรหนเถระ นั่งอยู่ที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ได้ทราบความคิดของนาคเสนกุมาร จึงหายวับไปปรากฏขึ้นข้างหน้านาคเสนกุมารทันที พอนาคเสนกุมารได้แลเห็น ก็เกิดความร่าเริงดีใจว่าบรรพชิตองค์นี้คงรู้จักสิ่งที่เป็นสาระเป็นแน่จึงถามขึ้นว่า
     “ ผู้มีศีรษะโล้นนุ่งเหลืองเช่นนี้เป็นอะไร ? ”
     พระเถระตอบว่า “ เป็นบรรพชิต ”
     “ เหตุไรจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต ”
     “ เหตุว่าเว้นเสียซึ่งบาป เว้นเสียซึ่งโทษจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต”
     “ ท่านรู้จักศิลปศาสตร์บ้างหรือ ? ”
     “ รู้จัก ”
     “ ศิลปศาสตร์อันใดที่สูงสุดในโลกมีอยู่ ท่านจะบอกศิลปศาสตร์อันนั้นให้แก่กระผมได้หรือ? ”
     “ นี่แน่ะ พ่อหนู บรรพชิตทั้งหลายเห็นความกังวล ๑๖ ประการ จึงได้โกนผมโกนหนวดเสีย ความกังวล ๑๖ ประการนั้นคือ
          ๑. กังวลด้วยอาภรณ์ คือเครื่องประดับ
          ๒. กังวลด้วยช่างทอง
          ๓. กังวลด้วยการขัดสี
          ๔. กังวลด้วยการเก็บเครื่องประดับ
          ๕. กังวลด้วยการฟอกผมสระผม
          ๖. กังวลด้วยดอกไม้
          ๗. กังวลด้วยของหอม
          ๘. กังวลด้วยเครื่องอบ
          ๙. กังวลด้วยสมอ
          ๑๐. กังวลด้วยมะขามป้อม
          ๑๑. กังวลด้วยดินเหนียว ( สมอ มะขามป้อม ดิน ทั้ง ๓ ประการนี้ ทำเป็นยาสระผม )
          ๑๒. กังวลด้วยเข็มปักผม
          ๑๓. กังวลด้วยผ้าผูกผม
          ๑๔. กังวลด้วยหวี
          ๑๕. กังวลด้วยช่างตัดผม
          ๑๖. กังวลด้วยการอาบน้ำชำระผม รวมเป็น ๑๖ ประการด้วยกัน 
      ในเส้นผมแต่ละเส้นย่อมมีหมู่หนอนอาศัยอยู่ที่รากผม ทำให้รากผมเศร้าหมองคนทั้งหลายได้เห็นผมเศร้าหมองก็เศร้าใจ เสียใจ ไม่สบายใจ เมื่อมังแต่ยุ่งอยู่กับผมด้วยเครื่องกังวล ๑๖ อย่างนี้ ศิลปศาสตร์ที่สุขุมยิ่งก็เสียไป เพราะฉะนั้นแหละ บรรพชิตทั้งหลายจึงต้องโกนผมโกนหนวดทิ้งเสีย ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อนี้น่าอัศจรรย์เพราะเมื่อคนทั้งหลายกังวลอยู่กับเครื่องกังวล ๑๖ ประการอย่างนี้ ศิลปศาสตร์ที่สุขุมยิ่ง ตัองไม่ปรากฏเป็นแน่ ข้อนี้กระผมเชื่อ แต่ขอถามอีกทีว่า เหตุไรผ้านุ่งผ้าห่มขอท่านจึงไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ? ”
     “ อ๋อ..การที่ผ้านุ่งผ้าห่มของเราไม่เหมือนคนอื่น ๆ นั้น เพราะว่าผ้านุ่งผ้าห่มอย่างพวกคฤหัสถ์ทำให้เกิดความกำหนัด ยินดีในสังขารร่างกายได้ง่าย ทำให้มีภัยอันตรายบังเกิดขึ้น เครื่องนุ่งห่มของเราจึงไม่เหมือนของคนอื่นๆ ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจสอนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดยิ่ง ให้แก่กระผมได้หรือ ? ”
     “ ได้…พ่อหนู ! ”
     “ ถ้าได้ขอได้โปรดสอนให้เดี๋ยวนี้เถิด ”
     “ เออ…พ่อหนู เวลานี้เรายังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในละแวกบ้าน ยังสอนให้ไม่ได้หรอก ” 
      ลำดับนั้น นาคเสนกุมารจึงรับเอาบาตรของพระโรหนเถระ แล้วนิมนต์ให้ขึ้นไปฉันที่เรือน เมื่อฉันแล้วจึงกล่าวว่า
     “ ขอท่านจงบอกศิลปศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผมเดี๋ยวนี้เถิด”
     “ โอ…พ่อหนู ! ตราบใดที่พ่อหนูยังมีกังวลอยู่ ตราบนั้นเรายังสอนให้ไม่ได้ ต่อเมื่อพ่อหนูขออนุญาตมารดาบิดาแล้ว ถือเพศอย่างเรา คือโกนผมนุ่งเหลืองห่มเหลืองเหมือนเรา เราจึงจะสอนให้ได้”
     นาคเสนกุมารจึงไปขออนุญาตต่อมารดาบิดา เมื่อมารดาบิดาไม่อนุญาต จึงนอนอดอาหาร ต่อเมื่อมารดาบิดาอนุญาต จึงบอกพระเถระว่า
     “ กระผมจักถือเพศอย่างท่าน ขอท่านจงสอนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผม”




พระโรหนเถระจึงพานาคเสนกุมารกลังไปที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ค้างอยู่คืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงพาไปหาพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ที่อยู่ที่ถ้ำรักขิตเลณะ


  • นาคเสนกุมารบรรพชา 

ในคราวนั้น พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ได้ให้นาคเสนกุมารบรรพชาอยู่ที่ถ้ำรักขิตเกณะ นาคเสนกุมารบรรพชาแล้ว จึงกล่าวต่อพระโรหนเถระว่า
     “ กระผมได้ถือเพศเหมือนท่านแล้ว ขอท่านจงสอนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งให้กระผมเถิด”
     พระโรหนเถระจึงคิดว่า เราจะสอนอะไรก่อนดีหนอ นาคเสนนี้มีปัญญาดี เราควรจะสอนอภิธรรมปิฏกก่อน ครั้งคิดแล้วจึงบอกว่า
     “ นาคเสน เธอจงตั้งใจเรียนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งของเรา”
     กล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เริ่มแสดงอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์คือคัมภีร์อภิธรรมสังคิณี ว่า “ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา ” เป็นต้น และ คัมภีร์วิภังค์ ธาตุกถาปุคคลบัญญติ กถาวัตถุ ยมกะ ปัฏฐาน เป็นลำดับไป
     นาคเสนสามเณรก็สามารถจำได้สิ้นเชิง มาถึงตอนนี้ ฉบับพิสดาร พรรณนาว่า
     ในขณะที่ฟังเพียงครั้งเดียว จึงได้กล่าวว่า ขอได้โปรดบอกเพียงเท่านี้ก่อนเถิด เมื่อกระผมท่องจำได้แม่นยำแล้ว จึงค่อยบอกให้มากกว่านี้อีก
     ต่อมานาคเสนสามเณรก็ได้นำความรู้ที่เรียนมาพิจารณา เช่นในบทว่า กุสลา ธัมมา ได้แก่อะไร อกุสลา ธัมมา ได้แก่อะไร อัพยากตา ธัมมา ได้แก่อะไร ดังนี้ เป็นต้น
     ท่านได้พิจารณาเพียงครั้งเดียวก็คิดเห็นเป็นกรรมฐานว่ามีความหมายอย่างนั้นๆ ด้วย ปัญญาบารมีที่ได้บำเพ็ญไว้มาแต่ชาติก่อนโน้น
     เมื่อคิดพิจารณาธรรมะอย่างถ้วนถี่แล้ว นาคเสนสามเณรจึงได้เข้าไปกราบนมัสการพระอรหันต์ทั้งหลาย พร้อมกับกล่าวว่า
     “ กระผมจะขอแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ตามที่ได้เรียนมาจากพระอุปัชฌาย์โดยขออธิบายความหมายให้ขยายออกไปขอรับ”
     พระอรหันต์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจึงอนุญาติให้สามเณรแสดงได้ตามความประสงค์ สามเณรได้วิสัชนาอยู่ประมาณ ๗ เดือนจึงจบ ในขณะนั้น เหตุอัศจรรย์ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นคือ แผ่นดินใหญ่ก็เกิดหวั่นไหว เทพดานางฟ้าทั้งหลายก็แสดงความชื่นชมยินดี พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ
     ทุกท่านต่างก็ร้องซ้องสาธุการ สรรเสริญปัญญาบารมีของสามเณร ได้โปรยปรายผงจันทน์ทิพย์และดอกไม้ทิพย์ บ้างก็เลื่อนลอย บ้างก็ปรอย ๆ เป็นฝอยฝนตกลงมา หอมฟุ้งขจรขจายไปทั่วบริเวณนั้น
     พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ให้สาธุการแสดงความชื่นชมยินดีว่า แต่นี้ไปศาสนาขององค์สมเด็จพระจอมไตร จะรุ่งเรืองวัฒนาถาวรตลอดไปนาคเสนอุปสมบท
     เมื่ออยู่นานมาจนกระทั่งนาคเสนสามเณรมีอายุครบอุปสมบทแล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ให้อุปสมบทเป็น พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
     ในเวลาเช้า พระนาคเสนครองบาตรจีวร จะเข้าไปบิณฑบาตก็นึกขึ้นว่า พระอุปัชฌาย์ของเราเห็นจะเปล่าจากคุณธรรมอื่น ๆ คงรู้แต่อภิธรรมเท่านี้ อย่างอื่นคงไม่รู้
     ขณะนั้นพระโรหนเถระ จึงออกมากล่าวขึ้นว่า
     “ นี่แน่ะ นาคเสน การนึกของเธอไม่สมควรเลย เหตุไรเธอจึงนึกดูถูกเราอย่างนี้? ”
     ฝ่ายพระนาคเสนก็นึกอัศจรรย์ใจว่าพระอุปัชฌาย์ของเราเป็นบัณฑิตแท้ เพียงแต่เรานึกในใจก็รู้ เราจักต้องขอโทษ ครั้นคิดแล้วจึงกล่าวขึ้นว่า
     “ ขอจงอดโทษให้กระผมด้วยเถิด กระผมจะไม่นึกอย่างนี้อีก จะไม่ทำอย่างนี้อีก ”
     “ นาคเสน เรายังอดโทษให้ไม่ได้ ต่อเมื่อเธอทำให้พระเจ้ามิลินท์ ผู้เสวยราชย์อยู่ในสาคลนครเลื่อมใสได้ ด้วยการแก้ปัญหานั้นแหละ เราจึงจะอดโทษให้ ”
     “ ท่านขอรับ อย่าว่าแต่พระเจ้ามิลินท์เพียงองค์เดียวเลย ต่อให้พระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้นเรียงตัวกันมาถามปัญหา กระผมก็จะทำให้เลื่อมใสได้สิ้น ขอท่านจงได้อดโทษให้กระผมเถิด”
     เมื่ออ้อนวอนอย่างนี้ถึง ๓ ครั้งก็ไม่เป็นผล จึงถามว่า
     “ ในพรรษานี้ ท่านจะให้กระผมอยู่ที่สำนักนี้ หรือว่าจะให้กระผมไปอยู่ในสำนักผู้ใดขอรับ? ”
     พระโรหนเถระจึงบอกว่า
     “ เธอจงไปหา พระอัสสคุตตเถระ ถามถึงความสุขของท่าน และบอกความทุกข์สุขของเราแทนเรา แล้วอยู่ในสำนักของท่านเถิด”
     ลำดับนั้น พระนาคเสนจึงอำลาพระอุปัชฌาย์ ออกเดินทางไปหาพระอัสสคุตตเถระ กราบไหว้แล้วก็ถามถึงทุกข์สุขตามคำสั่งของพระอุปัชฌาย์ แล้วขออาศัยอยู่

      พระอัสสคุตตเถระจึงถามว่า
     “ เธอชื่ออะไร ? ”
     “ กระผมชื่อนาคเสนขอรับ ”
     พระอัสสคุตต์ใคร่จะลองปัญญา จึงถามว่า
     “ ก็ตัวเราล่ะ ชื่ออะไร ”
     “ พระอุปัชฌาย์ของกระผม รู้จักชื่อของท่านแล้วขอรับ”
     “ อุปัชฌาย์ของเธอชื่ออะไร ? ”
     “ อุปัชฌาย์ของกระผมท่านรู้อยู่แล้ว ”
     “ ดีละ ๆ นาคเสน ” พระอัสสคุตต์จึงรู้ว่า พระภิกษุองค์นี้มีปัญญา จึงคิดว่า พระนาคเสนนี้ปรารถนาจะเรียนพระไตรปิฏก เราได้สำเร็จมรรคผลก็จริงแหล่ว่าแต่ทว่าฝ่ายพระไตรปิฏกรู้เป็นเพียงกลางๆ ก็อย่าเลยเราจะกระทำกิริยาไม่เจรจาด้วย ทำทีเหมือนจะลงพรหมทัณฑ์ด้วยภิกษุรูปนี้
     ครั้งคิดดังนี้แล้ว จึงได้ลงพรหมทัณฑ์คือไม่พูดกับพระนาคเสนถึง ๓ เดือน แต่พระนาคเสนก็ปรนนิบัติได้ปัดกวาดบริเวณและตักน้ำใช้น้ำฉันไว้ถวายตลอดทั้ง ๓ เดือน ส่วนพระอัสสคุตต์จึงกวาดบริเวณด้วยตนเอง และล้างหน้าด้วยน้ำอื่น
  •  พระนาคเสนแสดงธรรมเป็นครั้งแรก

     พระอัสสคุตต์นั้นมีอุบาสิกาคนหนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากมาประมาณ ๓๐ เดือนนั้นไปแล้ว อุบาสิกานั้นจึงออกไปถามพระเถระว่า
     “ ในพรรษานี้มีภิกษุอื่นมาอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าบ้างหรือ ? ”
     พระเถระก็ตอบว่า
     “ มี คือพระนาคเสน ”
     อุบาสิกานั้นจึงกล่าวว่า
     “ ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้เช้าขอพระผู้เป็นเจ้ากับพระนาคเสน จงเข้าไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านของโยมด้วย”
     พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่

      พระอัสสคุตตเถระมิได้สนทนากับพระนาคเสนจนตลอดถึงวันปวารณาออกพรรษา เช้าวันนั้นพระเถระจำต้องเจรจากับพระนาคเสน จึงกล่าวว่าอุบาสิกาเขามานิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหารเช้าด้วยกัน แล้วจึงพาพระนาคเสนเข้าไปฉันที่บ้านของอุบาสิกานั้น

      ครั้งฉันแล้ว จึงบอกให้พระนาคเสนอนุโมทนา ส่วนตัวท่านเองขอกลับไปก่อน ฝ่ายอุบาสิกานั้นจึงกล่าวต่อพระนาคเสนว่า
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมแก่แล้ว ขอท่านจงอนุโมทนาด้วยคาถาที่ลึกซึ้งเถิด”
     พระนาคเสนก็อนุโมทนาด้วยคาถาอันลึกซึ้ง เมื่อจบคำอนุโมทนาลง อุบาสิกานั้นก็ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล
     ในขณะนั้น พระอัสสคุตตเถระกำลังนั่งอยู่ที่โรงกลมกว้่างใหญ่ในวิหาร ได้ทราบความเป็นไปด้วยทิพจักขุญาณ จึงให้สาธุการว่า
     “ สาธุ..สาธุ..นาคเสน! ในที่ประชุมชนทั้งสอง คือมนุษย์และเทวดา เธอได้ทำลายให้คลายจากความสงสัย ด้วยลูกศรเพียงลูกเดียว กล่าวคือได้แสดงธรรมเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้ผู้รับฟังบรรลุมรรคผลได้ สาธุ..เราขอชมสติปัญญาของเธอนี้ประเสริฐนักหนา ”
     ในเวลาเดียวกันนั้น เหล่าเทพยดานางฟ้าอีกหลายพัน ต่างก็ได้ตบมือสาธุการ ผงจันทน์ทิพย์ในสวรรค์ ก็โปรยปรายลงมาดังสายฝน ขณะเมื่อจบลงแห่งพระสัทธรรมเทศนานั้น
ฝ่ายพระนาคเสนก็กลับไปกราบพระอัสสคุตตเถระแล้วนั่งอยู่ พระอัสสคุตตเถระจึงกล่าวว่า
     “ ตัวเธอมาอยู่ที่นี่นานแล้ว จงไปขอเรียนพระพุทธวจนะจากพระธรรมรักขิต ผู้อยู่ในอโศการามด้านทิศอุดร แห่งเมืองปาตลีบุตรนครเถิด”
     พระนาคเสนจึงเรียนถามว่า
     “ ท่านขอรับ เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลจากนี้สักเท่าใด? ”
     “ ไกลจากนี้ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ”
     “ เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลมาก อาหารในระหว่างทางก็จะหาได้ยาก กระผมจะไปได้อย่างไรขอรับ ”
     “ เธอจงไปเถิด ในระหว่างทางเธอจะได้อาหารล้วนแต่ข้าวสาลีไม่มีเมล็ดหักพร้อมทั้งกับข้าวอีกเป็นอันมาก”
     พระนาคเสนจึงกราบลาพระอัสสคุตต์แล้วออกเดินทางไปตามลำดับ

จบตอนที่2