พุทธพยากรณ์ในวันปรินิพพาน


     เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับเหล่าพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จไปที่เมืองกุสินารามหานคร ในเวลาที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงบรรทมบนบัลลังก์ หันพระเศียรไปทางทิศอุดร ในระหว่างนางรังทั้งคู่อันมีอยู่ในพระราชอุทยานของพวกมัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารา จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า




     "ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งปวงมีความสิ้นความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำกิจทั้งปวงด้วยความไม่ประมาทเถิด     ธรรมวินัยอันใด เราบัญญติไว้แล้ว เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมวินัยนั้นแหละ จะเป็นครูของพวกเธอ

     เมื่อเราปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปจะระลึกถึงถ้อยคำที่ไม่ดีของ สุภัททภิกขุผู้บวชเมื่อแก่ แล้วจะกระทำสังคายนา เพื่อรักษาพระพุทธวจนะไว้มิให้คลาดเคลื่อน (  สังคายนา ครั้งที่ ๑)

     ต่อนั้นไปอีก ๑๐๐ ปี พระยสกากัณฑกบุตร ผู้จะย่ำยีซึ่งถ้อยคำของพวกภิกษุวัชชีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ( สังคายนาครั้งที่ ๒)
     ต่อไปอีกได้ ๒๑๘ ปี พระโมคคลีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ (สังคายนาครั้งที่ ๓)

     ต่อมาภายหลัง พระมหินทเถระจะไปประดิษฐานศาสนาของเรา ลงไว้ที่ตามพปัณณิทวีป (ลังกา)
     
ต่อจากเราปรินิพพานไปล่วงได้ ๕๐๐ ปี จักมีพระราชาองค์หนึ่ง ชื่อว่า "มิลินท์" ผู้ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ดีแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาอันละเอียดขึ้น ด้วยอานุภาพปัญญาของตน จะย่ำยีเสียซึ่งสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยปัญหาอันละเอียด

     จะมีภิกษุองค์หนึ่ง ชื่อว่า "นาคเสน" ไปทำลายถ้อยคำของ มิลินทราชา ทำให้มิลินทราชาเกิดความร่าเริงยินดีด้วยอุปมาเป็นเอนก จะทำศาสนาของเราให้หมดเสี้ยนหนามหลักตอ จะทำศาสนาของเราให้ตั้งอยู่ตลอด ๕๐๐๐ พรรษา" ดังนี้

    เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดเกิดในตระกูลในเวลาล่วงได้ ๕๐๐ ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วนั้น ผู้นั้นจักได้ชื่อว่า "มิลินทราชา" เสวยราชย์อยู่ใน สาคลนคร อันเป็นเมืองอุดม มิลินทราชานั้น จักได้ถามปัญหาต่อพระนาคเสน มีอุปมาเหมือนกับน้ำในแม่น้ำคงคาไหลไปสู่มหาสมุทรสาครฉะนั้น พระองค์เป็นผู้มีถ้อยคำอันวิจิตร ได้เสด็จไปหาพระนาคเสนในเวลาราตรี มีคบเพลิงจุดสว่างไสว แล้วถามปัญหาล้วนแต่ละเอียดลึกซึ้ง ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจไว้ด้วยดี ฟังปัญหาอันละเอียดในคัมภีร์มิลินท์นั้นเถิด จะเกิดประโยชน์สุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน ดังนี้


     พระนครของพระเจ้ามิลินท์ มีคำเล่าลือปรากฏมาว่า "เมืองสาคลนครของชาวโยนก เป็นเมืองที่งดงามด้วยธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ อุทยานอันมีสระน้ำ สวนดอกไม้ผลไม้ ตกแต่งไว้อย่างดี มีหมู่นกมากมายอาศัยอยู่ ป้อมปราการก็แข็งแรง ปราศจากข้าศึกมารบกวน ถนนหนทางภายในพระนครเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างม้ารถอันคล่องแคล่ว อีกทั้งหมู่สตรีล้วนมีรูปร่างสวยงาม ต่างเที่ยวสัญจรไปมา ทั้งเป็นที่พักพาอาศัยของ สมณพราหมณ์ พ่อค้าสามัญชนต่าง ๆ

     เมืองสาคลนครนั้น สมบูรณ์ด้วยผ้าแก้วแหวนเงินทอง ยุ้งฉาง ของกินของใช้มีตลาดร้านค้าเป็นที่ไปมาแห่งพ่อค้า ข้างนอกเมืองก็บริบูรณ์ด้วยพืชข้าวกล้า อุปมาเหมือนข้าวกล้าในอุตตรกุรุทวีป หรือไม่ก็เปรียบเหมือนกับ "อารกมัณฑาอุทยาน" อันสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชฉะนั้น"

กราบขอบพระคุณ ที่มา : http://www.dhammathai.org/milin/milin01.php?#2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น