- ตอนที่ ๑๑ -
|
วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
มิลินทปัญหา ตอนที่ 10
- ตอนที่ ๑๐ - |
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน ร่างกายเป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลายหรือ? ” พระเถระตอบว่า “ ขอถวายพระพร ร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลาย” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ทำไมบรรพชิตจึงยังอาบน้ำชำระกาย ถึอว่ากายของเราอยู่ ? ” “ ขอถวายพระพร ผู้เข้าสู่สงครามเคยถูกบาดเจ็บบ้างหรือไม่? ” “ อ๋อ...เคยซิ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร แผลที่ถูกอาวุธนั้น ฉาบทาด้วยเครื่องฉาบทา ทาด้วยน้ำมัน พันด้วยผ้าเนื้อละเอียดแลหรือ ? ” “ ถูกแล้วพระผู้เป็นเจ้า ต้องทำอย่างนั้น ” “ ขอถวายพระพร บาดแผลนั้นเป็นที่รักของผู้นั้นหรือ? ” “ ไม่ได้เป็นที่รักของผู้นั้นเลย แต่ว่าเขาทำอย่างนั้น เพื่อให้เนื้อตรงนั้นงอกขึ้นเป็นปกติ ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลาย แต่บรรพชิตทั้งหลายรักษาร่างกายนี้ไว้ เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ อันว่าร่างกายนี้เปรียบเหมือนกับแผล บรรพชิตรักษาร่างกายนี้ไว้เหมือนกับบุคคลรักษาแผล” ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทศพลตรัสไว้ว่า “ กายนี้มีทวาร ๙ เป็นแผลใหญ่ อันหนังสดปกปิดไว้ คายของโสโครกออกโดยรอบ ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ” “ ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู คือทรงรู้ทุกสิ่ง เป็นสัพพทัสสาวีคือทรงเห็นทุกอย่างจริงหรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร จริง ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าจริง...เหตุไฉนจึงทรงบัญญัติสิกขาบทไปตามลำดับเหตุการณ์แก่สาวกทั้งหลาย ทำไมจึงไม่ทรงบัญญัติไว้ก่อน ? ” “ ขอถวายพระพร แพทย์ที่รู้จักยาทั้งหมดในแผ่นดินนี้มีอยู่หรือ? ” “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร ก็แพทย์นั้นให้คนไข้กินยาแต่เมื่อยังไม่เป็นไข้ หรือเมื่อเป็นไข้แล้วจึงให้กินยา ? ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเป็นไข้แล้วจึงให้กินยา เมื่อยังไม่เป็นไข้ก็ยังไม่ให้กินยา ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ทุกสิ่งเห็นทุกอย่างจริง แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ยังไม่บัญญัติสิกขาบท ต่อเมื่อถึงเวลาจึงบัญญัติสิกขาบท สิกขาบทที่ทรงบัญญัตินั้นพระสาวกไม่ควรล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต” “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าประกอบด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ และประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ มีสีพระกายดังทองคำ มีพระรัศมีสว่างรอบพระองค์ด้านละ ๑ วาเป็นนิจจริงหรือ? ”
“ ขอถวายพระพร จริง ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระมาดารบิดาประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการกับประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ มีสีพระกายดังทองคำมีพระรัศมีข้างละ๑ วาหรือไม่ ? ” “ ขอถวายพระพร พระมารดาบิดาไม่เป็นอย่างนั้น ” “ ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อพระมารดาบิดาไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเจ้าจะเป็นอย่างนั้นได้หรือ เพราะธรรมดาบุตรย่อมคล้ายกับมารดาหรือคล้ายกับข้างบิดา? ” “ ขอถวายพระพร ดอกปทุม หรือดอกอุบล ดอกโกมุท ดอกปุณฑริก มีอยู่หรือ ? ” “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า เพราะดอกบัวเหล่านั้นเกิดอยู่ในน้ำ เกิดอยู่ในดิน แช่อยู่ในน้ำ ” “ ขอถวายพระพร ดอกบัวเหล่านั้นมีสี กลิ่น รส เหมือนดินกับน้ำหรือไม่? ” “ ไม่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ถ้าอย่างนั้น ดอกบังเหล่านั้น มีสี กลิ่น รส เหมือนกับโคลนกับตมหรือไม่ ? ” “ ไม่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ” “ พระผู้เป็นเจ้าเข้าใจแก้ เป็นอันแก้ถูกต้องดีแล้ว”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าเป็นพรหมจารี คือเป็นผู้ประพฤติเหมือนกับพรหมจริงหรือไม่? ”
“ ขอถวายพระพร จริง ” “ ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็เป็นศิษย์ของพรหมน่ะซิ” “ ขอถวาวพระพร ช้างทรงของมหาบพิตรมีอยู่หรือ ? ” “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ช้างทรงของมหาบพิตรนั้น มีเสียงร้องเหมือนเสียงนกกระเรียนในบางคราวหรือไม่? ” “ อ๋อ...บางคราวก็มีเสียงร้องเหมือนเสียงนกกระเรียน พระผู้เป็นเจ้า ” “ ถ้าอย่างนั้น ช้างของมหาบพิตรก็เป็นศิษย์ของนกกระเรียนน่ะซี” “ ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าประพฤติเหมือนพรหมจริง แต่ไม่ได้เป็นศิษย์ของพรหม” “ ขอถวายพระพร พรหมนั้นได้ตรัสรู้ด้วยตนเองหรือไม่” “ ไม่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ถ้าอย่างนั้น พรหมก็ต้องเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า”
“ ข้าแต่พระนาคเสน การอุปสมบทดีหรือ...หรือว่าไม่อุปสมบทดี? ”
“ ขอถวายพระพร อุปสมบทดี ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อุปสมบทของพระพุทธเจ้ามีอยู่หรือ? ” “ ถวายพระพร พระพุทธเจ้าเป็นผู้ได้อุปสมบทแล้ว ” เมื่อพระนาคเสนกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสประกาศขึ้นว่า “ ขอพวกโยนกทั้ง ๕๐๐ จงฟังถ้อยคำของเรา คือพระนาคเสนกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้อุปสมบทแล้ว เป็นอุปสันบัน คือเป็นผู้ที่บวชแล้ว ถ้าพระสมณโคดมเป็นอุปสัมบัน ใครเป็นอุปัชฌาย์ ใครเป็นอาจารย์ มีสงฆ์มานั่งหัตถบาสเท่าใด ? ” “ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่มีอาจารย์ ได้อุปสมบทเอง ตรัสรู้เอง ที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ พระองค์ได้เป็นผู้อุปสัมบันพร้อมด้วยพระสัพพัญญุตญาณ” “ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอุปัชฌาย์อาจารย์ของพระสมณโคดมไม่มี โยมก็เข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นอนุปสัมบัน คือผู้ที่ยังไม่ได้บวชเพราะเหตุไร...พระพุทธเจ้าจึงไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่มีอาจารย์ ? ” เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามขึ้นอย่างนี้พระนาคเสนองค์อรหันต์ ผู้สำเร็จปฏิสัมภิทาจึงย้อมถามไปว่า “ มหาบพิตร ทรงเสวยแล้วหรือ ? ” “ โยมกินแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ” “ ใครเป็นครูเป็นอาจารย์บอกให้เสวยล่ะ ” “ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า ” “ ถ้าอย่างนั้น มหาบพิตรก็เสวยไม่ได้ ? ” “ ได้...ไม่ใช่โยมกินไม่ได้ ถึงไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอน โยมก็กินได้ ด้วยเคยกินมาในวัฏสงสารนับไม่ถ้วน ” “ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นขอให้มหาบพิตรเข้าพระทัยเถิดว่า พระพุทธเจ้าได้อุปสมบทแล้วที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ เพราะพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว” พระองค์อุปสมบทเอง ไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ได้อุปสมบทพร้อมกับได้พระสัพพัญญุตญาณ เหมือนกับมหาบพิตรผู้เสวยโดยไม่ต้องมีอาจารย์ เพราะเคยเสวยมาในวัฏสงสารอันไม่ปรากฏเบื้องต้นอัศจรรย์วันอุปสมบทในเวลาที่พระพุทธองค์ได้เป็นอุปสัมบันที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ ด้วยอำนาจพระบารมีนั้นอัศจรรย์ต่าง ๆ ก็ปรากฏขึ้นในโลก คือ คนตาบอดแต่กำเนิดก็กลับเป็นคนตาดี ๑ คนหูหนวกก็ได้ยินเสียง ๑ คนง่อยเปลี้ยก็เดินได้ ๑ คนใบ้ก็พูดได้ ๑ คนหลังค่อมก็ยืดตรงเป็นปกติได้ ๑ คนกำลังหิวข้าวก้ได้กินข้าว ๑ คนกระหายน้ำก็ได้ดื่มน้ำ ๑ ผู้ที่อาฆาตต่อกันก็ตึกเมตตากัน ๑ ทุกข์ในแดนเปรตก็หายไป ๑ ยาพิษก็กลับเป็นเหมือนยาทิพย์ ๑ หญิงมีครรภ์แก่ก็คลอดได้สบาย ๑ สำเภาที่ไปต่างไปต่างประเทศก็กลับมาถึงท่าของตน ๑ กลิ่นเหม็นก็กลายเป็นกลิ่นหอม ๑ ไฟในอเวจีมหานรกก็ดับ ๑ น้ำเค็มในมหาสมุทรก็กลายเป็นน้ำหวาน ๑ ภูเขาทั้งหลายก็เปล่งเสียงสะท้าน ๑ น้ำในมหานทีทั้งหลายก็หยุดไหล ๑ ผลจันทน์ทิพย์ดอกมณฑาทิพย์ก็ตกลงมาจากสวรรค์ ๑ เทพยดานางฟ้าทั้งหลาย ก็โปรยดอกไม้ทิพย์ลงมา ๑ พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ ๑ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าผู้มีสีพระกายดังทองคำ ก็ได้อุปสมบทเองที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ อันเป็นเหมือนปราสาทแก้วจึงได้มีสิ่งอัศจรรย์ปรากฏขึ้นอย่างนี้ ด้วยอานุภาพแห่งการอุปสมบทของพระพุทธเจ้านั้น ได้บันดาลให้พระยาเขาสิเนรุราชหมุนครวญคราง เหมือนกับกงรถกงเกวียนฉะนั้น พวกเทวดาในอากาศพร้อมกับบริวารก็มีใจเบิกบานยินดี ได้โปรยดอกไม้ทิพย์ลงมาบูชา จันทรเทพบุตรก็หยุดมณฑลรถไว้ที่อากาศ โปรยดอกไม้แก้วลงมาบูชาไม่ขาดสายเหมือนกับนมสดที่ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ ฉะนั้น การอุปสมบทของพระตถาคตเจ้าย่อมปรากฏอย่างนี้ “ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาด้วย ”
อุปมาช้างพระที่นั่ง
“ ขอถวายพระพร เมื่อมหาบพิตรขึ้นประทับนั่งบนคอช้างพระที่นั่ง มีผู้ใดผู้หนึ่งนั่งบนคอของพระองค์บ้างหรือไม่ ? ”
“ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า หากใครขึ้นนั่งบนคอของโยม ผู้นั้นจะต้องหัวขาด ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ไม่มีผู้อื่นจัดการอุปสมบทให้พระพุทธเจ้า ถ้าผู้ใดจัดการอุปสมบทให้พระพุทธเจ้า ศีรษะของผู้นั้นต้องหลุดไปจากคอทันที เมื่อกี้นี้มหาบพิตรถามอาตมาภาพว่า พระพุทธเจ้าอุปสมบทด้วยสงฆ์นั่งหัตถบาสเท่าไรอย่างนั้นหรือ? ” “ อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าไม่ได้อุปสมบทด้วยสงฆ์ มีแต่ มรรค กับ ผล เท่านั้นที่เป็นสงฆ์ ” ข้อนี้สมกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ พระอริยบุคคล ๔ เหล่า คือ ผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ผล ๔ ผู้มั่นอยู่ในปัญญาและศีลเป็นสงฆ์ผู้ตรงแท้ แต่บุคคลบางเหล่าต้องอุปสมบทด้วยสงฆ์ ” “ น่าอัศจรรย์ พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ปัญหาอันละเอียดยิ่ง อันไม่มีส่วนเปรียบได้แล้ว ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อุปสมบทเป็นของดีหรือ ? ” “ ขอถวายพระพร อุปสมบทเป็นของดี ” “ ข้าแต่พระนาคเสน การอุปสมบทของพระพุทธเจ้ามีอยู่หรือไม่มี? ” “ ขอถวายพระพร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุปสมบทด้วยความเป็นพระสัพพัญญู ที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิแล้ว ไม่มีผู้ให้อุปสมบทแก่พระพุทธเจ้า เหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงให้อุปสมบทแก่สาวกเลย ” “ แก้ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน บุรุษคนหนึ่งร้องไห้เพราะบิดามารดาตาย อีกคนหนึ่งน้ำตาไหลเพราะความชอบใจธรรมะ น้ำตาของคนทั้งสองนั้น น้ำตาของใครเป็นเภสัช น้ำตาของใครไม่เป็นเภสัช ? ”
“ ขอถวายพระพร น้ำตาของคนที่ร้องไห้ด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นน้ำตาร้อน ส่วนน้ำตาของผู้ฟังธรรมนั้น มีน้ำตาไหลด้วยปีติยินดีเป็นน้ำตาเย็น เป็นอันว่า น้ำตาเย็นเป็นเภสัช น้ำตาร้อนไม่เป็นเภสัช” “ ถูกดีแล้ว พระนาคเสน ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ปราศจากราคะ กับ ผู้ไม่ปราศจากราคะ ต่างกันอย่างไร ?”
“ ขอถวายพระพร ผู้หนึ่งยังมีความยึดถือ อีกผู้หนึ่งไม่มีความยึดถือ” “ ยึดถืออะไร...ไม่ยึดถืออะไร ? ” “ ขอถวายพระพร คือผู้หนึ่งยังมีความต้องการ อีกผู้หนึ่งไม่มีความต้องการ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ปราศจากราคะ กับ ผู้ไม่ปราศจากราคะ ก็ยังต้องการของเคี้ยวของกินที่ดีงามอยู่เหมือนกัน ไม่มีใครต้องการสิ่งที่ไม่ดีงาม โยมเห็นมีแต่ต้องการสิ่งที่ดีงามเหมือนกันหมด” “ ขอถวายพระพร ผู้ปราศจากราคะ ยังรับรสอาหาร ยังกินอาหารอยู่เหมือนกันก็จริงแหล่ แต่ทว่าไม่ยินดีในรสอาหาร ส่วนผู้ไม่ปราศจากราคะ ยังยินดีในรสอาหารอยู่ ไม่ใช่ไม่ยินดีในรสอาหาร ” “ เข้าใจแก้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญญาอยู่ที่ไหน ? ”
“ ขอถวายพระพร ปัญญาไม่ได้อยู่ที่ไหน ” “ ถ้าอย่างนั้นปัญญาก็ไม่มี ” “ ขอถวายพระพร ลมอยู่ที่ไหน ? ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่อยู่แห่งลมไม่มี ” “ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นลมก็ไม่มี ” “ ฉลาดแก้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน คำว่า สงสาร ได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร สัตว์โลกเกิดในโลกนี้ก็ตายในโลกนี้ ตายจากโลกนี้แล้วก็ไปเกิดในโลกอื่น เกิดในโลกนั้นก็ตายในโลกนั้น ตายจากโลกนั้นแล้วก็เกิดในโลกอื่น การเวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้แหละ เรียกว่า สงสาร ” “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งกินมะม่วงสุก แล้วปลูกเมล็ดไว้เมล็ดมะม่วงนั้น ก็เกิดเป็นต้นมะม่วงใหญ่ขึ้นจนกระทั่งมีผลมะม่วง บุรุษนั้นก็กินมะม่วงสุกจากมะม่วงต้นนั้น แล้วปลูกเมล็ดมะม่วงไว้อีก เมล็ดมะม่วงนั้นก็เกิดเป็นต้น มะม่วงใหญ่โตขึ้นจนมีผล ต้นแก่ก็ตายไป ที่สุดเบื้องต้นแห่งต้นมะม่วงเหล่านั้น ย่อมไม่ปรากฏว่ามีมาเมื่อไร ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การเวียนตายเวียนเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏเบื้องต้นฉะนั้น ” “ แก้ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลระลึกถึงสิ่งที่ล่วงไปนานแล้วได้ด้วยอะไร? ”
“ ได้ด้วย สติ ขอถวายพระพร ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่ล่วงไปนานแล้วสิ่งหนึ่ง บุคคลระลึกได้ด้วย จิต ต่างหาก ไม่ใช่ระลึกได้ด้วยสติ” “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้แล้ว ระลึกไม่ได้มีอยู่หรือไม่? ” “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร ในเวลานั้นพระองค์ไม่มีจิตหรือ ? ” “ จิตมี แต่เวลานั้นสติไม่มี ” “ ถ้าอย่างนั้น ขอมหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่า บุคคลระลึกได้ด้วย สติ ไม่ใช่ระลึกได้ด้วย จิต ” “ ถูกดีแล้ว พระนาคเสน ” |
มิลินทปัญหา ตอนที่9
- ตอนที่ ๙ -
|
“ ข้าแต่พระนาคเสน อายตนะ ๕ ( ตา หู จมูก ลิ้น กาย ) เกิดด้วยกรรมต่าง ๆ กันหรือเกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกัน ? ”
“ ขอถวายพระพร อายตนะ ๕ นั้น เกิดด้วยกรรมต่าง ๆ กัน ที่เกิดด้วยกรรมอันเดียวกันไม่มี ” “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” “ ขอถวายพระพร พืชต่าง ๆ ๕ ชนิดที่บุคคลหว่านลงไปในนาแห่งเดียวกัน ผลแห่งพืช ๕ ชนิดนั้น ก็เกิดต่าง ๆ กัน ฉันใด อายตนะ ๕ เหล่านี้ ก็เกิดด้วยกรรมต่างกัน ฉันนั้น ที่เกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกันไม่มี ” “ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน เพราะเหตุใด มนุษย์ทั้งหลายจึงไม่เสมอกัน คือมนุษย์ทั้งหลายมีอายุน้อยก็มี มีอายุยืนยาวก็มี อาพาธมากก็มี อาพาธน้อยก็มี ผิวพรรณวรรณะไม่ดีก็มี ผิวพรรณวรรณะดีก็มี มีศักดิ์น้อยก็มี มีศักดิ์ใหญ่ก็มี มีโภคทรัพย์น้อยก็มี มีโภคทรัพย์มากก็มี มีตระกลูต่ำก็มี มีตระกลูสูงก็มี ไม่มีปัญญาก็มี มีปัญญาก็มี ? ”
พระเถระจึงย้อนถามว่า
“ ขอถวายพระพร เหตุใดต้นไม้ทั้งหลายจึงไม่เสมอกันสิ้น ต้นที่มีรสเปรี้ยวก็มี มีรสขมก็มี มีรสเผ็ดก็มี มีรสฝาดก็มี มีรสหวานก็มี ? ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะความต่างกันแห่งพืช ” “ ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือ มนุษย์ทั้งหลายไม่เสมอกันหมด เพราะกรรมต่างกัน ข้อนี้สมด้วยพระพุทธฎีกาของสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า ” “ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมต่างกัน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมทำให้เกิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่อาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวดีต่างกัน ” “ ดังนี้ ขอถวายพระพร ” “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้แก่โยมว่า ทำอย่างไรทุกข์นี้จึงจะดับไปและทุกข์อื่นจึงจะไม่เกิดขึ้น ก็ควรรีบทำอย่างนั้น แต่โยมเห็นว่า ประโยชน์อะไรกับการรีบพยายามทำอย่างนั้น ต่อเมื่อถึงเวลา จึงควรทำไม่ใช่หรือ ? ” พระเถระตอบว่า “ ขอถวายพระพร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามก็จะไม่ทำสิ่งนั้นให้สำเร็จไปความรีบพยายามนั้นแหละ จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จไป ” “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
อุปมาการขุดน้ำ
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าใจความข้อนี้อย่างไร…คือ เมื่อใดมหาบพิตรอยากเสวยน้ำ เมื่อนั้นมหาบพิตรจึงจะให้ขุดที่มีน้ำให้ขุดสระโบกขรณี ให้ขุดเหมืองน้ำว่า เราจักดื่มน้ำอย่างนั้นหรือ ? ”
“ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สำเร็จประโยชน์ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์ ” “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”
อุปมาการไถนา
“ ขอถวายพระพร เมื่อใดมหาบพิตรหิว เมื่อนั้นหรือ…มหาบพิตรจึงจักให้ไถนา ปลูกข้าวสาลี หว่านพืช ขนข้าวมา หรือปลูกข้าวเหนียว ด้วยรับสั่งว่า เราจักกินข้าว ? ”
“ ทำอย่างนั้นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สำเร็จประโยชน์ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์ ” “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”
อุปมาการทำสงคราม
“ ขอถวายพระพร เมื่อใดสงครามมาติดบ้านเมือง เมื่อนั้นหรือ…มหาบพิตรจึงจะให้ขุดคู สร้างกำแพง สร้างเขื่อน สร้างป้อม ขนเสบียงอาหารมาไว้ ให้ฝึกหัดช้าง ม้า รถ ธนู ดาบ ? ”
“ ทำอย่างนั้นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สำเร็จประโยชน์ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ตรัสประทานไว้ว่า ” “ บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตนควรรีบทำสิ่งนั้น ผู้มีความคิด มีความรู้ มีความบากบั่น ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างพ่อค้าเกวียน คือ พ่อค้าเกวียนทิ้งทางเก่า อันเป็นทางเสมอ กว้างใหญ่ดี แล้วขับเกวียนไปในทางใหม่ ที่เป็นทางไม่เสมอดี เวลาเพลาเกวียนหักแล้วก็ซบเซาฉันใด บุคคลผู้โง่เขลาหลีกออกจากธรรมะไม่ประพฤติตามธรรม จวนจะใกล้ตายก็จะต้องซบเซา เหมือนพ่อค้าเกวียนที่มีเพลาเกวียนหักไปแล้วฉะนั้น ” “ ดังนี้ ขอถวายพระพร ” “ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวสมควรแล้ว ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า ไฟนรกร้อนมากว่าไฟปกติ ก้อนหินน้อย ๆ ทิ้งลงไปในไฟปกติ ไฟเผาอยู่ตลอดวันก็ไม่ย่อยยับ ส่วนก้อนหินโตเท่าปราสาททิ้งลงไปในไฟนรก ก็ย่อยยับไปในขณะเดียวดังนี้ คำนี้โยมไม่เชื่อถึงคำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า พวกสัตว์นรกอยู่ในนรกได้ตั้งพัน ๆ ปีก็ไม่ย่อยยับไป ดังนี้ คำนี้โยมก็ไม่เชื่อ ” พระเถระตอบว่า “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยอย่างไร…คือ พวกนกยูง ไก่ป่า มังกร จระเข้ เต่า ย่อมกินก้อนหินแข็ง ๆ ก้อนกรวดแข็ง ๆ จริงหรือ ? ” “ เออ…โยมได้ยินว่าจริงนะ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร ก้อนหินก้อนกรวดเหล่านั้น เข้าไปอยู่ภายในท้องของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แหลกย่อยยับไปหรือไม่ ? ” “ แหลกย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร ก็สัตว์ที่อยู่ในท้องของสัตว์เหล่านั้น แหลกย่อยยับไปไหน ? ” “ ไม่แหลกย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ” “ โยมเข้าใจว่า เพราะกรรมคุ้มครองไว้ ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกสัตว์นรกถึงจะถูกไฟไหม้อยู่ในนรกตั้งหลายพันปีก็ไม่ย่อยยับไป เพราะกรรมคุ้มครองไว้ พวกสัตว์นรกเหล่านั้น เกิดอยู่ในนรก เจริญอยู่ในนรก ตายอยู่ในนรก ” ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัสไว้ว่า “ บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นตราบใด สัตว์นรกก็ยังไม่ตายตราบนั้น ” “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
อุปมาด้วยราชสีห์
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร…คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลืองตัวเมีย ย่อมเคี้ยวกินของแข็ง ๆ เคี้ยวกินกระดูก เคี้ยวกินเนื้อมีอยู่หรือ ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร กระดูกที่เข้าไปอยู่ในท้องของสัตว์เหล่านั้นแหลกย่อยไปไหม ? ” “ แหลกย่อยไป พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร ลูกในท้องสัตว์เหล่านั้นแหลกย่อยยับไปไหม ? ” “ ไม่แหลก พระผู้เป็นเจ้า ” “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ” “ โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะกรรมรักษาไว้ แต่ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”
อุปมาด้วยนกหัวขวาน
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร…คือ นกหัวขวาน นกยูง ย่อมเคี้ยวกินไม้อันแข็งมีอยู่หรือ ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ไม้อันแข็งเหล่านั้น เข้าไปอยู่ในท้องของนกหัวขวาน นกยูงเหล่านั้นแล้ว ย่อยยับไปหรือไม่ ? ” “ ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร ลูกนกหัวขวานที่อยู่ในท้อง ย่อยยับไปหรือไม่ ? ” “ ไม่ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ” “ โยมเข้าใจ เพราะกรรมรักษาไว้ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”
อุปมาด้วยสตรี
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร…คือ นางโยนก นางกษัตริย์ นางพราหมณ์ นางคฤหบดี ที่มีความสุขมาแต่กำเนิด ได้เคี้ยวกินของแข็ง ขนม ผลไม้ เนื้อ ปลาต่าง ๆ หรือไม่ ? ”
“ เคี้ยวกิน พระผู้เป็นเจ้า ” “ ของเหล่านั้นตกเข้าไปอยู่ในท้องของหญิงเหล่านั้นแล้ว ย่อยยับไปหรือไม่ ? ” “ ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” “ ก็ลูกในท้องของหญิงเหล่านั้น ย่อยยับไปหรือไม่ ? ” “ ไม่ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ” “ โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะกรรมคุ้มครองไว้ ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ พวกสัตว์นรกถึงจะถูกไฟไหม้ในนรกตั้งหลายพันปี ก็ไม่ย่อยยับไป สัตว์นรกเหล่านั้น เกิดอยู่ในนรก เจริญอยู่ในนรก ตายอยู่ในนรก ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทศพลตรัสไว้ว่า ” “ บาปกรรมที่เขาทำไว้ยังไม่สิ้นตราบใดเขาก็ยังไม่ตายตราบนั้น ” “ สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า แผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ ดังนี้ คำนี้โยมไม่เชื่อ ”
พระเถระเมื่อจะวิสัชนาแก้ไข จึงได้เอาธันกรก คือ กระบอกกรองน้ำ ตักน้ำขึ้นมาแล้วก็เอามือปิดปากธัมกรกไว้ เพื่อมิให้น้ำไหลลงไปได้ ถือไว้ให้พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรแล้ว พร้อมกับถวายพระพรว่า “ มหาบพิตรจงทรงสังเกตดูธัมกรกนี้เถิดลมทรงไว้ซึ่งน้ำในกระบอกนี้ฉันใด ถึงน้ำที่รองแผ่นดิน ลมก็รับไว้ฉันนั้น ” “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน นิโรธ คือ นิพพาน หรือ ? ”
“ ถูกแล้ว มหาบพิตร ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อย่างไรจึงว่านิโรธคือนิพพาน ? ” “ ขอถวายพระพร อันว่าพาลปุถุชนทั้งหลาย ย่อมเพลิดเพลิดยินดีใน อายตนะภายในภายนอก ( ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ) จึงถูกกระแสตัณหาพัดไป จึงไม่พ้นจากการเกิด แก่ ตาย โศกร่ำไร ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และคับแค้นใจ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินยินดีในอายตนะภายในภายนอก เมื่อไม่เพลิดเพลินยินดี ตัณหาก็ดับไป เมื่อตัณหาดับ อุปทานก็ดับ เมื่ออุปทานดับ ภพก็ดับ เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ เมื่อชาติ คือ การเกิดดับ ความโศก ความร่ำไร ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และความคบแค้นใจก็ดับ เป็นอันว่า ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ อย่างนี้แหละมหาบพิตร จึงว่า นิโรธ คือ นิพพาน ” “ ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลทั้งหลายได้นิพพานเหมือนกันหมดหรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร ไม่ได้นิพพานเหมือนกันหมด ” “ เหตุไฉนจึงไม่ได้ ? ” “ ขอถวายพระพร ผู้ใดปฏิบัติดี รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ รอบรู้ธรรมที่ควรรอบรู้ละธรรมที่ควรละ อบรมธรรมที่ควรอบรมกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ผู้นั้นก็ได้นิพพาน ” “ ถูกต้อง พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพานรู้หรือไม่ว่านิพพานเป็นสุข ? ”
จบวรรคที่ ๔“ ขอถวายพระพร…รู้ คือผู้ยังไม่ได้นิพพาน ก็รู้ว่านิพพานเป็นสุข ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพานทำไมจึงรู้ว่านิพพานเป็นสุข ? ” “ ขอถวายพระพร พวกใดไม่ถูกตัดมือ ตัดเท้า พวกนั้นรู้หรือไม่ว่า การตัดมือตัดเท้าเป็นทุกข์ ? ” “ อ๋อ..รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า ” “ เหตุไฉนจึงรู้ล่ะ ? ” “ รู้ด้วยเขาได้ยินเสียงผู้ถูกตัดมือตัดเท้าร้องไห้ครวญคราง ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกที่ยังไม่ได้นิพพาน ก็รู้ได้ว่านิพพานเป็นสุข เพราะได้ยินเสียงพวกได้นิพพาน ” “ ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือ ? ” พระเถระตอบว่า “ ไม่ได้เห็น ขอถวายพระพร ” “ ถ้าอย่างนั้น อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าได้เห็นหรือ ? ” “ ขอถวายพระพร อาจารย์ก็ไม่ได้เห็น ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่มี ” “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เห็นโอหานที คือ สะดือทะเลหรือไม่ ? ” “ ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า ” “ ถ้าอย่างนั้น พระราชบิดาของพระองค์ได้เห็นหรือไม่ ? ” “ ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า ” “ ถ้าอย่างนั้นสะดือทะเลก็ไม่มี ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถึงโยมและพระราชบิดาของโยม ไม่ได้เห็นสะดือทะเลก็จริงแหล่ แต่ทว่าสะดือทะเลมีอยู่เป็นแน่ ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงอาตมาและอาจารย์ของอาตมา ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าก็จริง แต่พระพุทธเจ้ามีอยู่แน่ ขอถวายพระพร ” “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าหรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร จริง ” “ พระผู้เป็นเจ้ารู้ได้อย่างไรว่า พระพุทธเจ้าไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เห็น ?” “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือพวกที่ไม่ได้เห็นมหาสมุทร รู้หรือไม่ว่ามหาสมุทรอันกว้างใหญ่ มีน้ำลึกประมาณไม่ได้ หยั่งถึงพื้นได้ยาก เป็นที่ไหลไปรวมอยู่แห่งแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ ความพร่องหรือความเต็มแห่งมหาสมุทรนั้นไม่ปรากฏแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ ก็ไหลไปสู่มหาสมุทรเนือง ๆ ? ” “ รู้ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ อาตมภาพได้เห็นพระสาวกทั้งหลายผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้สำเร็จนิพพานมีอยู่ จึงรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้เยี่ยมไม่มีใครเทียมถึง ” “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าอาจรู้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เยี่ยมไม่มีใครยิ่งกว่า ? ”
“ อาจรู้ ขอถวายพระพร ” “ อาจรู้ได้อย่างไร ? ” “ ขอถวายพระพร เมื่อก่อนมีอาจารย์เลของค์หนึ่ง ชื่อว่า พระติสสเถระ มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่หลายปี แต่ถึงมรณภาพไปแล้วอาจารย์เลของค์นั้น ทำไมชื่อจึงยังปรากฏอยู่ ? ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาจารย์เลของค์นั้นยังปรากฏอยู่ เป็นด้วยเลขที่ท่านบอกไว้ ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็ได้เห็นพระพุทธเจ้า เพราะธรรมเป็นของที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ” “ สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นธรรมะแล้วหรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมะอันพระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนสาวก อันพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว พระสาวกควรปฏิบัติตามจนตลอดชีวิต ” “ แก้ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสนผู้ประเสริฐ ผู้ที่จะไปเกิดใหม่นั้น ไม่ได้ก้าวย่างไปด้วย แต่ถือกำเนิดได้ด้วยอย่างนั้นหรือ ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร” “ ถ้าอย่างนั้นขอนิมนต์อุปมา ” “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษผู้หนึ่งเอาประทีปมาต่อประทีป ประทีปจะก้าวไปจากประทีปเก่าหรือไม่ ? ” “ ไม่ก้าวไป พระผู้เป็นเจ้า ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ” “ ขอนิมนต์อุปมาอีก ” “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรคงจำได้ว่าในเวลาที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ มีพระชันษาได้ ๑๐ ได้รับวิชาเลขและวิชากการต่าง ๆ ในสำนักอาจารย์หรือ ? ” “ ได้รับ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร วิชาเลขและศิลปะต่าง ๆ นั้น ก้าวย่างไปจากอาจารย์หรือไม่ ? ” “ ไม่ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้ที่จะไปเกิดใหม่นั้น ไม่ได้ก้าวย่างไปเลย แต่ถือกำเนิดได้ ” “ ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลผู้ถึงเวทย์มีอยู่หรือไม่ ? ”
“ ขอถวายพระพร เมื่อว่าตามปรมัตถ์แล้ว...ไม่มี ” “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน สภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ก้าวไปจากกายนี้สู่กายอื่นมีอยู่หรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร ไม่มีเลย ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ก้าวจากกายนี้ไปสู่กายอื่นไม่มี บุคคลก็จะพ้นจากบาปกรรมทั้งหลายมิใช่หรือ ” “ ขอถวายพระพร ถ้าเขาไม่เกิดอีก ก็จะพ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย แต่เพราะเขายังเกิดอยู่ เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย ” “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” “ ขอถวายพระพร เปรียบเช่นเดียวกับบุรุษคนหนึ่ง ขโมยมะม่วงที่ผู้อื่นปลูกไว้ เขาควรจักต้องได้รับโทษหรือไม่ ? ” “ ควรได้รับโทษ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอถวายพระพร มะม่วงที่บุรุษนั้นขโมยไป ไม่ใช่มะม่วงลูกที่บุรุษนั้นปลูกไว้เหตุใดผู้ขโมยจึงควรได้รับโทษ ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มะม่วงเหล่านั้นอาศัยมะม่วงลูกที่บุรุษนั้นปลูกไว้ จึงเกิดเป็นลำดับขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ขโมยจึงควรได้รับโทษ ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือบุคคลย่อมทำกรรมดีหรือชั่วไว้ด้วย นามรูปนี้ แล้ว นามรูปอื่น ก็เกิดขึ้นด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ” “ แก้ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน กรรมดีและกรรมชั่ว ที่บุคคลทำด้วยนามรูปนี้ไปอยู่ที่ไหน ? ”
“ ขอถวายพระพร ติดตามผู้ทำไปเหมือนกับเงาตามตัว ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาจชี้กรรมเหล่านั้นได้หรือไม่ว่า กรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ? ” “ ขอถวายพระพร ไม่อาจชี้ได้ ” “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ยังไม่มีผล มหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่าผลอยู่ที่ไหน ? ” “ ไม่อาจชี้ได้ พระผู้เป็นเจ้า ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อการสืบต่อยังไม่ขาด ก็ไม่อาจชี้กรรมเหล่านั้นได้ว่ากรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ” พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า “ ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดจะเกิด ผู้นั้นรู้หรือว่า เราจะเกิด ? ”
“ ขอถวายพระพรรู้ ” “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างชาวนาหว่านพืชลงที่แผ่นดินแล้ว เมื่อฝนตกดีเขารู้หรือว่า พืชจักงอกงามขึ้น ? ” “ รู้พระผู้เป็นเจ้า ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ใดจะเกิด ผู้นั้นก็รู้ว่า เราจักเกิด ” “ ชอบแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร มีจริง ” “ พระผู้เป็นเจ้าอาจชี้ได้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ? ” “ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยการดับขันธ์แล้ว ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน ” “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” “ ขอถวายพระพร เปลวไฟที่ดับไปแล้วมหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่า เปลวไฟนั้นไปอยู่ที่ไหน ? ” “ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เพราะเปลวไฟนั้นถึงซึ่งความไม่มีบัญญติแล้ว ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีใครอาจชี้ได้ว่าไปอยู่ที่ไหน อาจชี้ได้เพียง พระธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ” “ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้สมควรแล้ว ”
จบวรรคที่ ๕
http://www.dhammathai.org/milin/milin09.php |
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)