- มิลินทปัญหา วรรคที่ ๒
- ปัญหาที่ ๑ ถามความสืบต่อแห่งธรรม
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ พระบาทท้าวเธอได้ตรัสถามปัญหาต่อไปว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดเกิดก็เป็นผู้นั้นหรือว่ากลายเป็นผู้อื่น? ” พระเถระถวายพระพรตอบว่า “ ไม่ใช่ผู้นั้น และไม่ใช่ผู้อื่น ” “ โยมยังสงสัยขอนิมนต์อุปมาก่อน ” “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรเข้าพระทัยว่าอย่างไร…คือมหาบพิตรเข้าพระทัยว่า เมื่อมหาบพิตรยังเป็นเด็กอ่อน ยังนอนหงายอยู่ที่พระอู่นั้น บัดนี้ มหาบพิตรเป็นผู้ใหญ่แล้วก็คือเด็กอ่อนนั้น…อย่างนั้นหรือ? ” “ ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า คือเด็กอ่อนนั้นเป็นผู้หนึ่งต่างหาก มาบัดนี้โยมซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้วก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก” “ มหาราชะ เมื่อเป็นอย่างนั้น มารดาก็จักนับว่าไม่มี บิดาก็จักนับว่าไม่มี อาจารย์ก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีศีลก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีศิลปะก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีปัญญาก็จักนับว่าไม่มีทั้งนี้เพราะอะไร…เพราะว่ามารดาของผู้ยังเป็น กลละ อยู่ เป็นผู้หนึ่งต่างหาก มารดาของผู้เป็น อัพพุทะ คือผู้กลายจากกลละ อันได้แก่กลายจากน้ำใส ๆ เล็กๆ มาเป็นน้ำคล้ายกับน้ำล้างเนื้อ ก็ผู้หนึ่งต่างหากเมื่อผู้นั้นกลายเป็นก้อนเนื้อ มารดาก็ผู้หนึ่งต่างหาก เมื่อผู้นั้นกลายเป็นแท่งเนื้อ มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่ง เมื่อผู้นั้นยังเล็กอยู่ มารดาก็เป็นผู้หนึ่งอีกต่างหาก เมื่อผู้นั้นโตขึ้น มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้นหรือ…ผู้ศึกษาศิลปะ ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้สำเร็จการศึกษาแล้วก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้ทำบาปกรรมก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้มีมือด้วนเท้าด้วน ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้นหรือ ? ” “ ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า ในเมื่อโยมกล่าวอย่างนี้ ส่วนพระผู้เป็นเจ้าจะกล่าวว่าอย่างไร ? ” “ ขอถวายพระพร เมื่อก่อนอาตมายังเป็นเด็กอ่อนอยู่ บัดนี้ ได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อวัยวะทั้งปวงนั้น รวมเข้าเป็นอันเดียวกัน เพราะอาศัยกายอันนี้แหละ ” “ ขอได้โปรดอุปมาด้วย ” “ มหาราชะ เปรียบเสมือนว่า บุรุษคนหนึ่งจุดประทีปไว้ ประทีปนั้นจะสว่างอยู่ตลอดคือหรือไม่ ? ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ประทีปนั้นต้องสว่างอยู่ตลอดคืน” “ มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้น ก็คือเปลวประทีปในยามกลางอย่างนั้นหรือ? ” “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” “ เปลวประทีปในยามกลาง ก็คือเปลวประทีปในยามปลายอย่างนั้นหรือ ? ” “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” “ มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้น ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามกลาง ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามปลาย ก็เป็นอย่างหนึ่ง อย่างนั้นหรือ ? ” “ ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า คือเปลวประทีปนั้นได้สว่างอยู่ตลอดคืน ก็เพราะอาศัยประทีปดวงเดียวกันนั้นแหละ ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ ธรรมสันตติ ความสืบต่อแห่งธรรม ย่อมสืบต่อกัน เมื่อสิ่งหนึ่งเกิด สิ่งหนึ่งดับ ย่อมติดต่อกันไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าผู้อื่นก็ไม่ใช่ ย่อมถึงซึ่งการจัดเข้าในวิญญาณดวงหลัง ขอถวายพระพร” “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ” “ มหาราชะ ในเวลาที่คนทั้งหลายรีดนม นมสดก็กลายเป็นนมส้ม เปลี่ยมจากนมส้มก็กลายเป็นนมข้ม เมื่อเปลี่ยนจากนมข้น ก็กลายเป็นเปรียง ผู้ใดกล่าวว่า นมสดนั้นแหละคือนมส้ม นมส้มนั้นแหละคือนมข้น นมข้นนั้นแหละคือเปรียง จะว่าผู้นั้นกล่าวถูกต้องดีหรืออย่างไร ? ” “ ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า คือเปรียงนั้นก็อาศัยนมสดเดิมนั้นแหละ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ธรรมสันตติ คือความสืบต่อแห่งธรรม ก็ย่อมสืบต่อกันไป อย่างหนึ่งเกิด อย่างหนึ่งดับ สืบต่อกันไปไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่า ผู้อื่นก็ไม่ใช่ ว่าได้แต่เพียงว่า ถึงซึ่งการสงเคราะห์เข้าในวิญญาณดวงหลังเท่านั้น ขอถวายพระพร ” “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขนี้สมควรแล้ว ”
| | สรุปความ | |
| |
ปัญหานี้พระเจ้ามิลินท์เข้าใจว่า คนที่เกิดมาแล้วจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ ท่านเข้าใจว่าเป็นคนละคนกัน พระนาคเสนจึงชี้แจงว่า ความจริงก็เป็นคนเดียวกัน แต่ที่ท่านตอบว่า จะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่นั้น ก็เพราะอาศัย สันตติ ความสืบต่อกัน เปรียบเหมือนเปลวไฟและนมสดที่เปลี่ยนไป เมื่อเปลี่ยนไปแล้ว จะว่าเป็นของเดิมก็ไม่ได้ จะว่าเป็นของอื่นก็ไม่ใช่ แต่ต้องอาศัยความสืบต่อกันไป เหมือนกับร่างกายที่เกิดมาก็อาศัยอวัยวะเดิมแลัวค่อยเปลี่ยนแปลง เติบโตขึ้นมาจนกว่าจะแก่เฒ่าไป ก็ชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกันนั่นเอง |
| |
- ปัญหาที่ ๒ ถามความรู้สึกของผู้ไม่เกิดอีก
“ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลใดไม่เกิดอีกบุคคลนั้นรู้หรือไม่ว่า เราจักไม่เกิดอีก ? ” “ มหาราชะ ผู้ใดจะไม่เกิดอีก ผู้นั้นก็รู้ว่าเราจักไม่เกิด” “ ข้าแต่พระคุณเจ้า ผู้นั้นรู้ได้อย่างไร ? ” “ ขอถวายพระพร เหตุปัจจัยอันใดที่ทำให้ถือกำเนิด ผู้นั้นก็รู้ว่าเราจะไม่เกิด เพราะความดับไปแห่งเหตุปัจจัยอันนั้นแล้ว ” “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” “ มหาราชะ เปรียบเหมือนชาวนาไถนาแล้ว หว่านข้าวแล้ว ได้ข้าวไว้เต็มยุ้งแล้ว ต่อมาภายหลังเขาก็ไม่ไถไม่หว่านอีก เขามีแต่บริโภคหรือขายซึ่งข้าวนั้น หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามเหตุปัจจัยที่มีมา ชาวนานั้นรู้หรือไม่ว่า ยุ้งข้าวของเราจักไม่เต็ม? ” “ รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า ” “ รู้อย่างไรล่ะ ? ” “ อ๋อ..รู้เพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ยุ้งข้าวเต็ม ” “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้นั้นก็รู้ว่าเราจักไม่เกิดอีก เพราะหมดเหตุปัจจัยที่จะทำให้ถือกำเนิดแล้ว ” “ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”
| | อธิบาย | |
| |
คำว่า “ หมดเหตุปัจจัย ” หมายความว่า เป็นผู้หมดกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ที่จะทำให้เกิดอีก |
| |
- ปัญหาที่ ๓ ถามที่ดับปัญญา
“ ข้าแต่พระนาคเสน ญาณ เกิดแก่ผู้ใด ปัญญา เกิดแก่ผู้นั้นหรือ ? ” “ เกิด…มหาราชะ คือ ญาณ เกิดแก่ผู้ใด ปัญญา ก็เกิดแก่ผู้นั้น” “ ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งใดเป็นญาณสิ่งนั้นหรือเป็นปัญญา? ” “ ถูกแล้ว…มหาราชะ คือสิ่งใดเป็นญาณก็สิ่งนั้นแหละเป็นปัญญา” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ญาณได้เกิดแก่ผู้ใดปัญญานั้นได้เกิดแก่ผู้นั้น ผู้นั้นหลงหรือไม่หลง ? ” “ มหาราชะ ผู้มีปัญญาหลงในบางสิ่งบางอย่าง ไม่หลงในบางสิ่งบางอย่าง” “ หลงในสิ่งไหน ไม่หลงในสิ่งไหน ? ” “ ขอถวายพระพร หลงในศิลปะที่ไม่ชำนาญก็มี ในทิศที่ไม่เคยไปก็มี ในชื่อหรือสถานที่ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มี ” “ อ๋อ…แล้วไม่หลงในอะไร พระผู้เป็นเจ้า ? ” “ ไม่หลงในสิ่งที่ตนรู้แล้วว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็โมหะ คือความหลงของผู้นั้นไปอยู่ที่ไหนล่ะ? ” “ มหาราชะ พอ ญาณ เกิดแล้ว โมหะ คือความหลงก็ดับไปในญาณนั้นเอง” “ ขอนิมนต์อุปมาเถิด ”
อุปมาผู้จุดประทีป
“ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง จุดประทีปเข้าไปในเรือนที่มืด ในขณะนั้นความมืดก็ดับไป แสงสว่างก็ปรากฏขึ้น ฉันใด เมื่อ ญาณ เกิดขึ้นแล้ว โมหะ ก็ดับไปในที่นั้น ฉันนั้นแหละ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็ปัญญานั้นเล่า…ไปอยู่ที่ไหน? ” “ มหาราชะ ปัญญา ทำหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไปในที่นั้นเอง สิ่งใดที่ทำด้วยปัญญานั้นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งนั้นไม่ดับ ” “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า ปัญญาทำหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไป แต่สิ่งใดที่ทำด้วยปัญญานั้นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งนั้นไม่ดับ ดังนี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาด้วย”
อุปมาการเขียนเลข
“ มหาราชะ เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้ใดรู้หนึ่ง อยากดูตัวเลขในกลางคืน จัดแจงให้จุดประทีปขึ้นเขียนเลข เมื่อประทีปดับแล้วเลขก็ยังไม่หายไป ข้อนี้มีอุปมา ฉันใด ปัญญาทำหน้าที่ของตนแล้วดับไป แต่สิ่งที่รู้ด้วยปัญญาว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น มิได้ดับไป ฉันนั้น ” ” ขอพระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้ยิ่งขึ้น ”
อุปมาโอ่งน้ำ
“ ขอถวายพระพร เปรียบประดุจพวกมนุษย์ในชนบทตะวันออก จัดตั้งโอ่งน้ำไว้ ๕ โอ่งข้างประตู เพื่อดับไฟที่จะไหม้เรือน เมื่อไฟไหม้เรือนแล้ว โอ่งน้ำ ๕ โอ่งนั้นเขาก็นำไปเก็บไว้ในละแวกบ้าน ไฟก็ดับไป ชาวบ้านคิดหรือไม่ว่า เราจักต้องทำสิ่งที่จำเป็นด้วยโอ่งน้ำเหล่านั้นอีก? ” “ ไม่คิด พระผู้เป็นเจ้า เพราะไม่มีความจำเป็นกับโอ่งน้ำเหล่านั้นอีกแล้ว ด้วยว่าไฟก็ดับแล้วเขาจึงนำไปเก็บไว้อย่างนั้น ” “ มหาราชะ ควรเห็น อินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้นว่า เปรียบเหมือนกับโอ่งน้ำทั้ง ๕ พระโยคาวจรเปรียบเหมือนชาวบ้าน กิเลสเปรียบเหมือนไฟ กิเลสดับไปด้วยอินทรีย์ ๕ เปรียบเหมือนกับไฟดับไปด้วยน้ำทั้ง ๕ โอ่งนั้น กิเลสที่ดับไปแล้วย่อมไม่เกิดขึ้นอีก ฉันใด เมื่อปัญญาทำหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไป แต่สิ่งที่รู้ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นมิได้ดับไป ฉันนั้น ” “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”
อุปมารากยา
“ มหาราชะเปรียบปานประหนึ่งว่าแพทย์ผู้ถือเอารากยา ๕ รากไปหาคนไข้ บดรากยาทั้ง ๕ นั้น แล้วละลายน้ำให้คนไข้ดื่ม โรคนั้นก็หายไปด้วยรากยาทั้ง ๕ รากนั้น แพทย์นั้นคิดหรือไม่ว่า เราจักต้องทำกิจที่ควรทำด้วยรากยาเหล่านั้นอีก ? ” “ ไม่คิด พระผู้เป็นเจ้า ” “ มหาราชะ รากยาทั้ง ๕ นั้น เหมือน อินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้น แพทย์นั้นเหมือนพระโยคาวจร ความเจ็บไข้เหมือนกิเลส บุรุษผู้เจ็บไข้เหมือนปุถุชน ไข้หายไปด้วยยาทั้ง ๕ รากนั้นแล้ว ผู้เจ็บไข้นั้น ก็หายโรค ฉันใด เมื่อกิเลสออกไปด้วยอินทรีย์ ๕ แล้วกิเลสก็ไม่เกิดอีก อย่างนี้แหละ มหาบพิตรชื่อว่าปัญญาทำหน้าที่ของตนแล้วดับไป แต่สิ่งนั้นหามิได้ดับไป ฉันนั้น ” “ นิมนต์อุปมาให้ยิ่งกว่านี้อีก ”
อุปมาผู้ถือลูกธนู
“ มหาราชะ เหมือนกับบุรุษผู้จะเข้าสู่สงคราม ถือเอาลูกธนู ๕ ลูก แล้วเข้าสู่สงคราม เพื่อต่อสู้กับข้าศึก เขาเข้าสู่สงครามแล้วก็ยิงลูกธนูไป ข้าศึกก็แตกพ่ายไป บุรุษนั้นคิดหรือไม่ว่า เราจักต้องทำกิจด้วยลูกธนูเหล่านั้นอีก ? ” “ ไม่คิด พระผู้เป็นเจ้า ” “ มหาราชะ ควรเห็น อินทรีย์ ๕ เหมือนลูกธนูทั้ง ๕ พระโยคาวจรเหมือนกับผู้เข้าสู่สงคราม กิเลสเหมือนกับข้าศึก กิเลสแตกหักไปเหมือนกับข้าศึกพ่ายแพ้กิเลสดับไปแล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกอย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่าปัญญาทำหน้าที่ของตนแล้วดับไป แต่สิ่งที่รู้ด้วยปัญญาว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นหามิได้ดับไป ขอถวายพระพร” “ แก้ดีแล้ว พระนาคเสน ”
- ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องปรินิพพาน
“ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดจะไม่เกิดอีก ผู้นั้นยังได้เสวยทุกขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ ? ” “ ขอถวายพระพร ได้เสวยก็มี ไม่ได้เสวยก็มี ” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ว่าได้เสวยก็มีไม่ได้เสวยก็มีนั้น คือเสวยอะไร ไม่ได้เสวยอะไร ? ” “ ขอถวายพระพร ได้เสวยเวทนาทางกาย ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ” “ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่าได้เสวยเวทนาทางกาย แต่ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจนั้น คืออย่างไร ? ” “ ขอถวายพระพร คือเหตุปัจจัยอันใดที่จะให้เกิดทุกขเวทนาทางกายยังมีอยู่ ผู้นั้นก็ยังได้เสวยทุกขเวทนาทางกายอยู่ เหตุปัจจัยอันใดที่จะให้เกิดทุกขเวทนาทางใจดับไปแล้ว ผู้นั้นก็ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาทางใจ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระจอมไตรตรัสไว้ว่า”
“ ผู้นั้นได้เสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาแล้วนั้น เหตุไรจึงยังไมปรินิพพาน ? ” “ ขอถวายพระพร ความยินดีหรือยินร้ายไม่มีแก่พระอรหันต์เลย พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่ทำสิ่งที่ยังไม่แก่ไม่สุกให้ตกไป มีแต่รอการแก่การสุกอยู่เท่านั้น”
ข้อนี้สมกับ พระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นเสนาบดีในทางธรรมได้กล่าวไว้ว่า “ เราไม่ยินดีต่อมรณะ เราไม่ยินดีต่อชีวิต เรารอแต่เวลาอยู่ เหมือนกับลูกจ้างรอเวลารับค่าจ้างเท่านั้นเราไม่ยินดีต่อมรณะ ไม่ยินดีต่อชีวีต เราผู้มีสติสัมปชัญญะ รอแต่เวลาอยู่เท่านั้น ” “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”
| | สรุปความ | |
| |
ในข้อนี้มีความหมายว่า พระอรหันต์ยังต้องมีความทุกข์ทางกาย เช่น หนาวร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระปัสสาวะ การป่วยไข้ไม่สบาย ความแก่ และความตาย เป็นต้นแต่จิตใจของท่านไม่กระวนกระวายไม่เป็นทุกข์ไปด้วย ยอมรับนับถือกฏขอธรรมดาพระนาคเสนจึงตอบว่า “ ผู้ที่ไม่เกิดอีก จึงได้เสวยเวทนาแต่ทางกาย ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ” ดังนี้ |
| |
- ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องสุขเวทนา
“ ข้าแต่พระนาคเสน สุขเวทนา เป็นกุศลหรืออกุศล หรืออัพยากฤต ? ” ( อัพยากฤต หมายถึง ธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล คือเป็นนิพพาน) “ ขอถวายพระพร เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี อัพยากฤตก็มี” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเป็นกุศลก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์ก็ไม่เป็นกุศล คำกล่าวว่า “ สุขเป็นทั้งกุศล เป็นทั้งทุกข์ ” ก็ไม่ควร ”
อุปมาก้อนเหล็กแดงและหิมะ
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร… คือ ถ้ามีก้อนเหล็กแดงวางอยู่ที่มือข้างหนึ่งของบุรุษคนหนึ่ง และมีก้อนหิมะเย็นวางอยู่ที่มืออีกข้างหนึ่ง มือทั้งสองข้างจะถูกเผาเหมือนกันหรือ…มหาบพิตร? ” “ ถูกเผาเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า ” “ ถ้าอย่างนั้น มือทั้งสองข้างนั้น จะร้อนเหมือนกันหรือ? ” “ ไม่ร้อนเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า ” “ ถ้าอย่างนั้น มือทั้งสองข้างนั้น จะเย็นเหมือนกันหรือ? ” “ ไม่เย็นเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า ” “ ขอมหาบพิตรจงทราบว่า มหาบพิตรถูกกล่าวข่มขี่แล้ว คือ ถ้าก้อนเหล็กแดง อันร้อนเป็นของเผา ก็จะต้องเผามือทั้งสองข้าง แต่มือทั้งสองข้างนั้นไม่ร้อน เพราะฉะนั้นถ้อยคำของมหาบพิตรจึงใช้ไม่ได้ ถ้าของที่เย็นเป็นของเผา มือทั้งสองข้างก็จะต้องถูกเผา แต่มือทั้งสองข้างไม่เย็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คำของมหาบพิตรจึงใช้ไม่ได้ ขอถวายพระพร เหตุไรจึงว่ามือทั้งสองข้างถูกเผา แต่มือทั้งสองข้างนั้นไม่ร้อนเหมือนกัน ไม่เย็นเหมือนกัน ข้างหนึ่งร้อน อีกข้างหนึ่งเย็น เพราะฉะนั้น คำที่มหาบพิตรตรัสว่า มือทั้งสองข้างถูกเผานั้นจึงใช้ไม่ได้” “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่อาจโต้ตอบกับพระผู้เป็นเจ้าได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแก้ไขไปเถิด ”
ลำดับนั้น พระเถระจึงทำให้พระเจ้ามิลินท์ทรงเข้าพระทัยได้ด้วยคาถาอันประกอบด้วย อภิธรรม ว่า “ มหาราชะ โสมนัสเวทนา ( ความรู้สึกยินดี ) อันอาศัยการครองเรือน ( กามคุณ ๕ ) มีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวชมีอยู่ ๖ โทมนัสเวทนา ( ความรู้สึกยินร้าย ) อันอาศัยการครองเรือนมีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวชมีอยู่ ๖ อุเบกขาเวทนา ( ความรู้สึกวางเฉย ) อันอาศัยการครองเรือนมีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวชมีอยู่ ๖ เวทนาทั้ง ๓๖ อย่างนี้ แยกเป็นเวทนาที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน รวมเข้าด้วยกันเป็น เวทนา ๑๐๘ ขอถวายพระพร” “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว ”
| | สรุปความ | |
| |
พระเจ้ามิลินท์ไม่ทรงเห็นด้วยกับพระนาคเสนที่ว่า สุขเวทนาเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี แต่พระองค์ทรงเห็นว่า ถ้าสุขเวทนาเป็นกุศล ควรให้ผลแต่สุข ไม่ควรให้ทุกข์ด้วย
แต่พระนาคเสนยังคงยืนยันตามเดิม โดยยกตัวอย่างมาซักถาม เพื่อลวงให้พระราชาตอบผิด จะสังเกตได้ว่าการตอบคำถาม ท่านจะไม่ค้านหรือตำหนิโดยตรง เป็นแต่ใช้อุบายเพื่อรักษาน้ำใจเท่านั้น อันนี้เป็นหลักในการสนทนาธรรมของท่าน
ในฏีกามิลินท์ ท่านอธิบายว่า ความจริงนั้นมีอยู่ว่า ถึงสุขเวทนาที่เป็นกุศล ก็เป็นทุกข์ได้ เพราะเป็นทุกข์สังขาร และเป็นทุกข์แปรปรวน ถึงทุกข์อันได้แก่ โทมนัส คือความไม่ชอบใจ ที่อาศัยการถือบวชนั้น ก็เป็นกุศลได้ เพราะเป็นของไม่มีโทษ
แต่พระเถระคิดว่า เมื่อเราตั้งปัญหาว่าด้วย “ ก้อนเหล็กแดงกับก้อนหิมะ” ถามพระราชา พระราชาก็จะแก้ผิด เราจักชี้โทษว่าแก้ผิด เมื่อพระราชาไม่อาจแก้ได้ ก็จะขอให้เราแก้ เราจึงจะทำให้พระราชาเข้าใจตามความจริงได้
เมื่อพระเถระถามว่ามือทั้งสองข้างนั้น ถูกเผาเหมือนกันหรือ พระราชาก็จะต้องตอบผิดว่า ถูกเผาเหมือนกัน เพราะได้ทรงสดับมาว่าของเย็นของร้อนจัดเป็น “ เตโชธาตุ ”
ทั้งทรงเข้าพระทัยว่า ก้อนหิมะเย็นเป็นของกัดอย่างร้ายแรง เมื่อทรงเข้าพระทัยผิดอย่างนี้ ก็ตรัสตอบว่า มือทั้งสองข้างถูกเผาเหมือนกัน
เมื่อพระเถระซักถามต่อไปว่า ถ้ามือทั้งสองข้างถูกเผา ก็จะต้องร้อนเหมือนกัน หรือจะต้องเย็นเหมือนกันใช่ไหม พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “ ไม่ใช่ ” ดังนี้แล้วพระนาคเสนจึงเอาประเด็นนี้เป็นความผิด เพื่อชี้โทษที่ทรงเห็นผิดในข้อนี้ เมื่อพระราชาอับจนต่อปัญหาที่ยกตัวอย่างมานี้จึงเปิดโอกาสให้ชี้แจงได้ เป็นการยอมรับฟังความเห็นของพระเถระว่า
“ บุรุษผู้หนึ่งจับก้อนเหล็กแดงด้วยมือข้างหนึ่ง และจับก้อนหิมะด้วยมืออีกข้างหนึ่ง ซึ่งสิ่งของทั้งสองอย่างนี้ ถึงแม้จะมีสภาพตรงกันข้าม แต่ก็ให้ความรู้สึกทั้งร้อนและเย็นแก่ผู้จับเหมือนกัน ฉันใด สุขเวทนา อันมีใน เวทนา ๑๐๘ ก็ย่อมให้ความรู้สึกทั้งที่เป็น กุศล อกุศล และอัพยากฤต เช่นกัน ฉันนั้น ” |
| |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น